วันจันทร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2551

ระทึก! "สมัคร" เหนี่ยวเก้าอี้ "นายกฯ" 2 ฝ่ายต่างเกทับมั่นใจคำตัดสินเชือดคดี "ชิมไปบ่นไป"

2 ฝ่ายต่างเกทับมั่นใจในคำตัดสินชี้ขาดคุณสมบัตินายกฯ "สมัคร" ระทึกศาล รธน. อ่านคำวินิจฉัยปิ๋วเก้าอี้หรือไม่ เจ้าตัวเบิกความอ้างจัดรายการ "ชิมไปบ่นไป" ไม่คิดว่าเป็นความผิด เจ้าของรายการให้การค่าจ้างให้โชเฟอร์ สาบานกลางศาลถ้าเรียกร้องเงิน "ค่าตัว" ขอให้บรรลัย
สมัครลุ้นระทึก ศาลรธน.วินิจฉัยปิ๋วจากตำแหน่ง
เช้าวันเดียวกัน นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ใช้เวลาเกือบ 1 ชั่วโมง ในการไต่สวนพยานเพื่อชี้แจงต่อคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีนายชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นประธานออกนั่งบัลลังก์ กรณีประธานวุฒิสภาส่งคำร้องของส.ว.และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ในฐานะผู้ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรี ของนายสมัคร กรณีดำเนินรายการ "ชิมไปบ่นไป" และ “ยกโขยงหกโมงเช้า” ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) และมาตรา 267 ประกอบ 182 วรรคสาม และมาตรา 91 โดยมีพยานผู้ถูกร้อง 2 ปากคือ นายสมัคร และนายศักดิ์ชัย แก้ววรรณีสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด ขณะที่นายธนา เบญจาธิกุล ผู้รับมอบอำนาจจากผู้ถูกร้อง นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหาในฐานะผู้ร้อง 1 และพ.อ.สันธิรัตน์ มหัทธนชาติ เลขาอนุกรรมการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงในฐานะผู้ร้องที่ 2 ซึ่งเป็นผู้แทนจากกกต. ทำหน้าที่ซักถามพยานผู้ถูกร้องทั้ง 2 ปาก อย่างละเอียด โดยคณะตุลาการ นัดรับฟังคำวินิจฉัยคดีนี้ในวันที่ 9 กันายน เวลา 14.00 น.
อ้างทำชิมไปฯ"ไม่คิดว่าเป็นความผิด"
การไต่สวนพยานเริ่มขึ้นในเวลา 09.00 น. นายสมัคร เบิกความว่า เริ่มทำรายการ “ชิมไปบ่นไป” ตั้งแต่ปี 2543 โดยบริษัท เฟซมีเดีย จำกัด ชวนให้เป็นวิทยากรเพื่อให้มาบรรยายเรื่องการทำอาหาร ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้ว่าฯกทม. ส่วนค่าตอบแทนไม่เคยเรียกร้อง เพราะจะให้แต่ค่ารถและค่าน้ำมันแก่คนสนิทของตน ในระยะหลังก็ให้ค่าทำอาหารด้วย ส่วนการบันทึกเทปได้บันทึกเป็น 1 วันออกอากาศได้ 4 ตอนสามารถใช้ออกอากาศได้ 1 เดือน ที่บอกว่า ได้รับเงินเดือน 1 แสนบาทขอปฏิเสธว่าไม่เคยได้รับ แค่มาทำก็ได้ไม่มาทำก็ไม่ได้ ทางบริษัทเคยถามว่าจะทำรายการต่อได้หรือไม่ ปรึกษากับทางนักกฎหมายก็บอกว่าเป็นเรื่องรับจ้างไม่ใช่ลูกจ้าง ในข้อบังคับห้ามเป็นลูกจ้าง ก็เลยทำต่อไป หลังดำรงตำแหน่งนายกฯ เมื่อ 6 กุมภาพันธ์ มีคนทักท้วง จึงยุติออกอากาศทั้งสองรายการ
จากนั้น ศาลรัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้ นายเรืองไกร ซักถามนายสมัครว่า เมื่อรับตำแหน่งก็ออกรายการจนมีคนทักท้วง เทปที่บอกว่า ถ่ายครั้งหนึ่งใช้เวลาออกอากาศ 4 ตอน ช่วง 6 กุมภาพันธ์ – 18 พฤษภาคม 2551 น่าจะเป็นช่วงที่ทำรายการไปบางส่วนแล้วใช่หรือไม่ นายสมัคร บอกว่า "ผมไม่คิดว่าเป็นความผิดก็ทำไป ความผูกพัน 7 ปีแล้วก็ทำจนคุ้นเคย"
สาบานถ้าเรียกร้องเงินให้บรรลัย
นายเรืองไกรถามว่า หลังจากเป็นนายกฯไม่ขอรับค่าตอบแทนแต่รับค่าน้ำมันและค่าซื้ออาหาร นายสมัครได้รับครั้งละ 3,000-5,000 บาทจริงหรือไม่ นายสมัคร ตอบว่า "เป็นการให้คนขับรถ ส่วนรายการของผมไม่เคยเรียกร้องสักบาท ถึงไม่ให้ผมก็ทำ เพราะผมชอบทำของผม ถ้าจะเลิกผมก็ต้องเลิกต้องพิสูจน์ว่า หลังเป็นนายกฯผมเคยได้รับเงินจากบริษัทหรือไม่ แต่ที่ผมไม่คิดว่าผิดเพราะทนายบอกว่าเป็นรับจ้างไม่ใช่ลูกจ้าง ผมทำเพราะเห็นว่าไม่ผิด พอมีคนทักท้วงก็หยุด"
ต่อมา พ.อ.สันธิรัตน์ มหัทธนชาติ เลขาอนุกรรมการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงในฐานะผู้ถูกร้องที่ 2 ตัวแทนจากกกต. ได้ซักถามนายสมัครต่อว่า ในรายการชิมไปบ่นไป และยกโขยงหกโมงเช้านายสมัครเคยเรียกร้องผลประโยชน์หรือค่าตอบแทนหรือไม่ นายสมัคร ยืนยันว่า ไม่มี "ผมสาบานด้วยความสัตย์จริงทุกประการผมไม่เคยเรียกร้องเลย ถ้าเรียกร้องอะไรเขา ขออย่าให้ผมมีความเจริญรุ่งเรืองบรรลัยวายวอด แต่ถ้าหากผมไม่ทำอย่างนั้น ขอให้ผมมีความเจริญรุ่งเรือง”
บ่นทำมา7ปีมีเรื่องตอนเป็นนายกฯ
หลังจากผู้ร้องที่ 1 และ 2 ซักถามเสร็จ คณะตุลาการที่นั่งบนบัลลังก์ ซักถามนายสมัคร เพิ่มเติม โดยสอบถามว่า ปี 2550 ดูตารางการเสียภาษีทางบริษัทเฟซฯ ชำระให้ในแบบภงด. 3 เมื่อดูจากกรมสรรพากรส่งมาให้ในปีที่ผ่านมา คำนวณได้ 8 แสนบาทใช่หรือไม่ นายสมัคร กล่าวว่า "ใกล้เคียงตามเอกสารไม่ผิด เอกสารถูกต้อง หลังจากรับตำแหน่งนายกฯได้ทำรายการ 2 -3 ครั้ง เพราะหากรับค่าตอบแทนก็อาจมีเรื่องได้ ส่วนค่าน้ำมันก็จ่ายให้คนขับรถเท่านั้น และไม่ทราบหรือไม่สนใจว่าค่าน้ำมันได้ให้คนขับรถหรือไม่ เพราะไม่เคยแตะต้องเงินของคนขับรถ และคนขับรถเป็นคนใกล้ชิดของผมซึ่งดูแลการใช้จ่ายเงินของเขาเอง ส่วนรายการที่มีสัญลักษณ์การ์ตูนเป็นนายสมัครมีจมูกเป็นรูปชมพู่นั้น ใช้มาตั้งนานหลายปี สัญลักษณ์ของรายการสื่อตัวถึงนายสมัคร เพราะทำมา 7 ปี ผมเป็นนายกฯก็มีเรื่อง ถ้าไม่เป็นนายกฯก็ไม่มีเรื่อง"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างขึ้นให้การต่อศาลนั้นนายสมัคร มีท่าทีในการตอบคำซักถามของนายเรืองไกรด้วยน้ำเสียงแข็งกร้าว ดุดัน กระทั่งให้การเสร็จเมื่อเวลาประมาณ 10.30 น. จึงได้ขออนุญาตศาลออกจากห้องพิจารณาคดีเพื่อไปปฏิบัติภารกิจทันที และขึ้นรถออกไปจากศาลรัฐธรรมนูญอย่างรวดเร็ว
เจ้าของรายการให้การค่าจ้างให้โชเฟอร์
จากนั้น นายศักดิ์ชัย แก้ววรรณีสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 2 ขึ้นเบิกความว่า ไม่รู้จักนายสมัคร เป็นการส่วนตัวก่อนจะติดต่อให้เป็นพิธีกรในปี 2543 การให้ค่าตอบแทนจะคิดในอัตราในลักษณะนักแสดงและพิธีกรทั่วไป กระทั่งเมื่อนายสมัครเป็รผู้ว่าฯกทม.ก็ยุติไปช่วงหนึ่ง และนำเทปรายการเก่ามาตัดต่อก็สามารถออกอากาศไปได้ประมาณ 7-8 เดือน ช่วงการเลือกตั้งวันที่ 23 ธันวาคม2550 ทำหนังสือสอบถาม ซึ่งนายสมัครทำหนังสือตอบกลับมาว่า ได้ให้ฝ่ายกฎหมายดูแล้ว สามารถทำได้ เพราะเป็นรับจ้าง ไม่ใช่ลูกจ้างตามที่รัฐธรรมนูญห้ามไว้ แต่จะไม่รับค่าตอบแทนใดๆ ซึ่งทางบริษัทก็ได้จ่ายเป็นค่าน้ำมันให้กับคนขับรถของนายสมัคร โดยคิดค่ารถเป็นกิโลเมตรหารเฉลี่ยค่าน้ำมันไปกลับ และบวกเพิ่มอีก 10- 15% รวมทั้งค่ากับข้าว
"หลังจากนายสมัครดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็มีการบันทึกเทปรายการชิมไปบ่นไปและยกโขยงหกโมงเช้าอีก 2-3 ครั้ง รวมทั้งในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาก็บันทึกเทปที่บ้านพักของนายสมัคร แต่เทปดังกล่าวไม่ได้ออกอากาศ จนมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ นายสมัครจึงสั่งให้ยกเลิกการเป็นพิธีกร และไม่ให้นำเทปที่อัดไว้ออกอากาศ ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการนำฐานะนายกรัฐมนตรีไปหาโฆษณา แต่สัญลักษณ์ของรายการที่เป็นรูปการ์ตูนพ่อครัวจมูกชมพู่ เป็นการแสดงถึงตัวตนของนายสมัครในทางส่วนตัว ไม่ใช่ในฐานะนายกฯ"นายศักดิ์ชัย กล่าว
เมื่อการไต่สวนพยานเป็นเวลากว่า 2 ชั่วโมงเสร็จสิ้นลง ทางคณะตุลาการขอประชุมชั่วคราว 15 นาทีเพื่อกำหนดวันนัดฟังคำวินิจฉัย จากนั้นนายชัช ออกนั่งบัลลังก์พร้อมคณะตุลาการฯอ่านคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยในวันที่ 9 กันยายน
2ฝ่ายต่างเกทับมั่นใจในคำตัดสิน
ภายหลังการไต่สวนเสร็จสิ้น นาย เรืองไกร กล่าวว่า พอใจในการตอบคำถามของนายสมัคร ที่เอาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายมาพูดและพร้อมยอมรับคำวินิจฉัยของศาลไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ขณะที่ นาย ธนา เบญจาธิกุล ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากนายสมัคร กล่าวว่า จากการสืบพยาน ค่อนข้างมั่นว่าข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า นายกรัฐมนตรีไปดำรงตำแหน่งใดๆ หรือเป็นลูกจ้างบริษัทเอกชน อย่างไรก็ตามหากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาอย่างไรก็ต้องเคารพและถือว่าเป็นที่สิ้นสุด และเป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฏรที่จะเสนอผู้สมควรเป็นนายกฯต่อไป แต่ตำแหน่งส.ส.ของนายสมัครก็ยังคงอยู่
ส่วนสาเหตุที่นายสมัครเปลี่ยนใจมาให้การด้วยตัวเองทั้งที่ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าจะขอเลื่อนการให้ปากคำ นายธนา กล่าวว่า นายกฯตัดสินใจว่าอยากมาชี้แจงให้เรื่องได้จบไป เพราะหากไม่มา บางทีคนที่จะวินิจฉัยก็ไม่รู้จะเอาข้อเท็จจริงตรงไหน หากจะจับเอาข้อเท็จจริงในเอกสารก็อาจจะคลาดเคลื่อนจากเรื่องที่เจ้าตัวรู้ดีที่สุด


ที่มา:http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1220885755&grpid=00&catid=01

5 ความคิดเห็น:

* Discuss Of Law * กล่าวว่า...

ยังหวงอีก
จะหวงอีกทำไม
มีแต่ชื่อ แต่ไม่มีความหมาย
มันน่าภูมิใจนักหรอ
ไม่มีใครเขาต้องการแล้ว
ยอม ๆ ๆ ซะบ้างเหอะ
เรื่องจะได้จบ ๆ สักที
เพื่อความสุขของประชาชน
ทำได้ไหม ?




นางสาวภัทราสิยากร ณ นคร
ID:5131601005 SEC:1

Unknown กล่าวว่า...

ต่างฝ่ายก็ไม่ยอมลดลาวาศอกแก่กัน
นายกกก็ไม่รู้จะยื้อไปถึงไหน
หรือว่าอาจเพราะยังไม่ได้เงินชาติไปละมั้ง
เลยอยากอยู่โกงกินก่อน
จึงค่อยออก

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

คุณนายกคนนี้ไม่ยอมออกซักทีแม้กระทั่งศาสตัดสินคุณนายกคนนี้ก็ไม่ยอมออกนะคร้า

ทำไมไม่ออกหล่ะคร้าในเมื่นายกก็มีสิทธิ์เป็นส.ส.
ต่อ ก็ถ้าคิดจะเป็นนายกอีกก็ได้นี่คร้าก้อยุบสภาเลือกตั้งใหม่ไงคร้า จะได้รู้กันไปเลย

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ถ้านาย สมัคร เป็นนายกฯรอบสอง

แผ่นดินไทยคงนองเลือดแน่

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณสำหรับบทความดีๆครับ