วันพฤหัสบดีที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2551

สมัครดันสูตรใหม่ ประชามติ ลั่นวิทยุ"ไม่ออก-ยุบ"

"พธม."ตื่นเช้ารอเฮ-เก้อ! พี่เหยื่อแจ้งจับ"5แกนนำ" คืนเงินทำศพให้สว.รสนา คลองทำเนียบเน่าปลาอืด
"หมัก"ออกวิทยุยืนยันไม่ลาออก-ไม่ยุบสภา แจงเหตุ"เตช"โดนบีบคั้นจนต้องลาออกจากรมว.ต่างประเทศก่อนเข้าประชุมครม.นัดพิเศษสรุปให้ทำประชามติทั่วประเทศ ใช้เวลา 30 วันรณรงค์ พร้อมเดินสายออกรายการวิทยุ-ทีวีชี้แจงประชาชน โดยมี 5 พรรคร่วมรัฐบาลหนุนทำประชามติเต็มที่ ชงกม.ประชามติเข้าวุฒิสภาพิจารณาเลยวันนี้ ส่วนทั้งพรรคประชาธิปัตย์กับพันธมิตรคัดค้านทำประชามติเต็มตัว แกนนำพันธมิตรจวกนายกฯโกหกออกวิทยุ ชี้นอกจากนายกฯต้องออกแล้วพรรคพปช.ก็ต้องออกทั้งพรรคด้วย แต่ไม่รับปากจะเลิกชุมนุมหรือไม่ ส.ส.พลังประชาชนยื่นฟ้องกลุ่มส.ว.ขึ้นเวทีพันธมิตรล้มล้างประชาธิปไตย ผบ.ทบ.ประชุมคณะทำงานพ.ร.ก.ฉุกเฉิน มทภ.1 วอนอย่าชุมนุมเพิ่มอีก ย้ำเรื่องปฏิวัติแค่ข่าวโคมลอย บิ๊กตร.ระบุยังไม่เห็นหมายจับแกนนำพธม.รุ่น 2 พี่เหยื่อนปช.รับศพน้องชาย ร้องพธม.หยุดเคลื่อนไหวได้แล้ว ขอให้น้องเป็นศพสุดท้ายเซ่นม็อบ ก่อนเข้าแจ้งความจับ 5 แกนนำพธม. ขณะที่นปช.รื้อเวทีปากน้ำยุติการชุมนุมแล้ว กลุ่มสันติสีขาวแถลงต้านความรุนแรง ให้มีการเจรจาโดยมีทหารเป็นผู้ช่วย ให้ทุกฝ่ายหยุดเคลื่อนไหวทุกรูปแบบภายใน 4 ปี แพทย์ชนบทนัดสวมเสื้อดำจี้เลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน

สมัครออกวิทยุยันไม่ลาออก

เมื่อเวลา 07.30 น. วันที่ 4 ก.ย. นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้เดินทางด้วยรถอัลพาร์ด สีดำ ทะเบียน ศร-3333 กทม. มายังสถานีวิทยุแห่งประเทศไทยของกรมประชาสัมพันธ์ เพื่อออกรายการข่าวช่วงที่ 2 เมื่อมาถึงนายสมัครได้กล่าวกับนายเผชิญ ขำโพธิ์ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์อย่างอารมณ์ดีว่า "รถติดตั้ง 15 นาที ลืมไป คิดว่าเป็นวันหยุด"

จากนั้นนายสมัครกล่าวกับประชาชนผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ อธิบายถึงที่มาของการประกาศภาวะฉุกเฉิน ว่า "รัฐบาลเดือดร้อนเพราะเอาไม่อยู่เพราะมีคนยึดทำเนียบ ศาลมีหมายมาแต่ศาลเอาไม่อยู่ มีการพูดในสภาให้ผมออก ให้ผมยุบสภา แต่บอกเลยว่าผมจะต้องอยู่เพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตย สภาก็เอาไม่อยู่อีกแล้ว แต่ยังมีการปลุกระดมอีกว่ารัฐบาลไม่มีความชอบธรรมในการประกาศภาวะฉุกเฉิน ผมแต่งตั้งผบ.ทบ.ให้ดูแล ท่านก็พูดตรงไปตรงมาว่าลองย้อนให้สภาแก้อีกที ซึ่งผมรับฟัง ไม่ใช่ว่าเราไม่ได้พูดกัน และถ้าทำตามสูตรนั้นพังทุกราย แต่รัฐบาลผมไม่ต้องการพังจึงไม่ทำตามสูตร ผมยืนยันว่าไม่ได้ทำอะไรผิด ทำตามกฎหมาย ผมไม่ลาออก ต้องอยู่รักษาประชาธิปไตยของบ้านเมืองนี้ และทหารไม่ปฏิวัติ ไม่ยึดอำนาจ จะทำอย่างนุ่มนวล ขอให้มั่นใจว่าถ้าผมยังทำหน้าที่ถือหางเสือบ้านเมืองนี้อยู่เรื่องนี้ต้องจบได้

"ชี้"เตช"โดนบีบคั้นให้ลาออก

นายสมัคร กล่าวถึงการลาออกของนายเตช บุนนาค รมว.ต่างประเทศ ว่า นายเตชก็เขียนจดหมายมาบอกว่า ถูกบีบบังคับจากหลายฝ่าย และภรรยาทนไม่ได้ที่สามีมาอยู่กับรัฐบาลซึ่งคนเขาดูหมิ่นเหยียดหยามกันทั้งบ้านทั้งเมือง และนายเตชไม่ได้มีความรู้สึกเป็นนักการเมือง แต่ได้มาช่วยงานก็ขอบพระคุณ ไม่ได้มีปัญหาอื่น เขาก็มีภรรยาตนก็มีภรรยา แต่ภรรยาของตนเดินไปด้วยกับตน ไม่ต้องลา เหตุผลของนายเตช คือถูกคนรอบข้างขอให้ถอย เขาก็ถอย ก็เห็นใจ และเราก็ยังเป็นเพื่อนที่ดีกันเหมือนเดิม

จากนั้นนายสมัครรีบเดินขึ้นไปยังห้องออกอากาศทันที ก่อนจะใช้เวลาออกอากาศนาน 50 นาที จากนั้นได้พยายามหลบผู้สื่อข่าวจำนวนมากที่รออยู่ด้านหน้าอาคาร ออกไปทางด้านหลัง แต่ไม่พ้นโดยผู้สื่อข่าวถามว่าจะไปเจรจากับกลุ่มพันธมิตรเพื่อยุติปัญหาหรือไม่ นายสมัครปฏิเสธที่จะตอบคำถามโดยเลี่ยงขึ้นรถเบนซ์สีดำ ทะเบียน ชพ 1420 หลบออกไปทันที

เรียกประชุมครม.นัดพิเศษ

จากนั้นเวลา 09.00 น. นายสมัคร ได้โทรศัพท์ติดต่อกับรัฐมนตรีและทีมโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกประชุมครม.นัดพิเศษด่วนในเวลา 10.30 น.ที่กองบัญชาการกองทัพไทย โดยนายสมัคร เดินทางมาถึงกองบัญชาการกองทัพไทยเวลา 10.00 น. และได้หลบลงชั้นใต้ดินเพื่อขึ้นไปยังห้องประชุมทันที ส่วนรัฐมนตรีได้ทยอยมาร่วมประชุมผู้สื่อข่าวรายงานว่า ครม.นัดพิเศษ ใช้เวลาประชุม 1 ชั่วโมงเศษได้ยุติลง โดยนายสมัครได้มอบให้พล.ต.ท.วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์ โฆษกประจำสำนักนายกฯ เป็นผู้แถลง จากนั้นนายสมัคร ได้เดินทางมายังอสมท เพื่อรอออกอากาศในรายการของนายวีระ ธีระภัทร ในช่วงบ่ายเวลา 12.30 น. นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ รมว.วัฒนธรรม ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมครม.ว่า ครม.ได้เห็นชอบในหลักการและหารือร่วมกันในการทำประชามติเพื่อหาทางออกเกี่ยวกับวิกฤตที่เกิดขึ้นในขณะนี้ แต่ต้องรอกฎหมายประชามติที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของวุฒิสภา ส่วนเหตุผลและประเด็นที่จะตั้งเพื่อถามความเห็นของประชาชนนั้น ได้มอบหมายให้คณะกรรมการกฤษฎีกาไปศึกษาและดูข้อกฎหมายว่าจะถามประเด็นอะไรบ้าง ตอนนี้คงต้องรอคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อน

เห็นชอบให้ทำประชามติ

นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้สัมภาษณ์ว่า ในที่ประชุมครม.หยิบยกเรื่องพ.ร.บ.ประชามติมาหารือ เพื่อจะถามประชาชน ถามสังคมที่ขณะนี้มีความสับสนเพราะไม่มีใครทราบว่าเรื่องอะไรถูกหรือผิด เรื่องจริงคืออะไร ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมตัดสินใจด้วย เมื่อถามถึงประเด็นที่จะสอบถามจากประชาชนจะเน้นเรื่องใดบ้าง นายวุฒิพงศ์ กล่าวว่า ต้องกำหนดโดยดูกฎหมายอีกที กฎหมายต้องเร่งให้ออกมาเร็วขึ้น วุฒิสภาต้องรับผิดชอบแก้ไขปัญหาสังคมโดยใช้กฎเกณฑ์ของสภาเข้ามาเป็นตัวช่วย เพราะเราอยู่ในระบอบประชาธิปไตย จึงต้องทำเพื่อให้เดินต่อไปได้เมื่อถามว่านายกฯเห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าวหรือไม่ นายวุฒิพงศ์ กล่าวว่า ต้องดูกฎหมายและสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรว่าจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรต่อไป จึงจะกำหนดแนวทางให้สอดคล้องกับสถานการณ์และเชื่อว่าแนวทางที่มีการนำเสนอขึ้นมานี้ สามารถเป็นทางออกได้อีกทางหนึ่งนายวิชาญ มีนชัยนันท์ รมช.สาธารณสุข กล่าวว่า การพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประชามติ ได้พูดคุยกันตั้งแต่การประชุมร่วมสองสภาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเห็นควรว่าจะใช้อำนาจตามมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญ เรื่องการทำประชามติ และอยากแนะนำส.ว.ว่าควรเห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าวเพราะขณะนี้ประชาชนเกิดความสับสน ไม่รู้ว่ามีฝ่ายที่เห็นด้วยกับรัฐบาลและฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลอยู่มากแค่ไหน จึงต้องให้เสียงประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจเมื่อถามว่า คำถามที่จะถามในการทำประชามติจะเป็นเรื่องใด นายวิชาญกล่าวว่า ต้องดูรายละเอียดอีกครั้งว่ามีผู้เห็นด้วยหรือไม่อย่างไร ต้องให้สภาช่วยพิจารณาตัดสิน วันนี้การทำหน้าที่ของแต่ละฝ่ายก็ดำเนินต่อไป เพราะมีการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปแล้ว และในที่ประชุมครม.ไม่มีใครติดใจกับร่างพ.ร.บ.ประชามติ และไม่มีการกดดันให้นายกฯลาออก เพราะทุกตำแหน่งที่เข้ามาทำงานในสภา ได้รับเลือกมาจากประชาชน ดังนั้น หากจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรคงจะให้สภาได้พิจารณาด้วย

พันธมิตรโห่"หมัก"ออกวิทยุ

ส่วนบรรยากาศการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรที่ปักหลักชุมนุมบริเวณทำเนียบรัฐบาลเป็นวันที่ 10 ตั้งแต่ช่วงยังคงเงียบเหงา โดยบนเวทีพิธีกรจัดรายการเล่าข่าวบนเวทีพันธมิตรให้ผู้ชุมนุมฟัง พร้อมประกาศว่าตั้งแต่เช้าวันที่ 4 ก.ย. สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจจะตัดน้ำ ตัดไฟ หน่วยงานราชการวันละ 1 แห่ง หากรัฐบาลยังแข็งขืนไม่ยอมลาออก โดยจะไม่แจ้งล่วงหน้าว่าจะเป็นหน่วยงานใดจากนั้นเวลา 07.30 น. สถานีโทรทัศน์เอเอสทีวีได้เชื่อมต่อสัญญาณการถ่ายทอดเสียงของนายสมัครที่ชี้แจงสถานการณ์ทางการเมืองผ่านสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย คลื่นเอฟเอ็ม 92.5 เมกะเฮิร์ตซ์ เป็นเวลากว่า 40 นาที โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้โห่ไล่ พร้อมทั้งตะโกนด่านายสมัครตลอดเวลาเวลา 08.00 น. พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำกลุ่มพันธมิตร กล่าวบนเวทีว่า ในช่วงเช้ามีกลุ่มบุคคลเข้ามาแจ้งกับชุดรักษาความปลอดภัย ของกลุ่มพันธมิตรว่าให้เตรียมเก็บของเพื่อย้ายออกจากทำเนียบรัฐบาล จึงอยากขอร้องประชาชนว่าอย่าหลงเชื่อ เพราะเป็นผู้ไม่หวังดี เนื่องจากแกนนำกลุ่มพันธมิตร ได้ประชุมกันในเวลา 02.00 น. โดยมีมติว่าไม่ว่านายสมัครจะพูดอย่างไร เราจะยังชุมนุมภายในทำเนียบต่อไป จะไม่คืนทำเนียบให้รัฐบาล ขอให้เชื่อว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในไม่กี่วันนี้แน่นอน

สรรเสริญ"เตช"มีศีลธรรม

ต่อมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตร ขึ้นกล่าวบนเวทีทันทีที่นายสมัครพูดจบว่า หลังจากฟังนายสมัครแล้ว ทำให้เชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้นว่าการออกมาชุมนุมของประชาชนไม่ผิดเลย เพราะตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยเห็นใครโกหกเก่งเท่านายสมัคร โกหกว่ามีประชาชนอีกกลุ่มรักตัวเอง ทั้งที่คนพวกนั้นเป็นเพียงกุ๊ยข้างถนนที่ได้รับการว่าจ้างมานายสนธิกล่าวต่อว่า กรณีนายเตช บุนนาค รมว.ต่างประเทศ ลาออก ซึ่งเชื่อว่าไม่ใช่เหตุผลเรื่องของครอบครัว หรือถ้าจะเป็นเพราะครอบครัวจริง ก็แสดงให้เห็นว่าครอบครัวนายเตชเป็นคนดีมีศีลธรรม ไม่มุ่งหวังลาภยศ สรรเสริญ เหมือนนายสมัครที่ลูกเมียบีบให้ออก แต่ไม่ยอมลาออก เหตุที่นายสมัครต้องมาออกรายการวิทยุ เพราะสถานการณ์คับขันมาก โดนคนในพรรคร่วมรัฐบาล และทุกภาคส่วนของสังคมกดดัน ไม่เว้นแม้แต่คนในพรรคพลังประชาชน จึงต้องมาออกรายการวิทยุเพื่อขอความเห็นใจ

คลองหลึงตึกไทยคู่ฟ้าเริ่มเน่า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศโดยรอบทำเนียบ พบว่าผู้ชุมนุมบางส่วนจับกลุ่มมุงดูคลองภายในทำเนียบรัฐบาล โดยเฉพาะคลองหลังตึกไทยคู่ฟ้า ที่เริ่มเน่าเสียอย่างหนัก เนื่องจากมีเศษขยะของผู้ชุมนุมลงไปในคลองค่อนข้างมาก อีกทั้งยังไม่มีการเปิดกังหันเติมออกซิเจน ทำให้ปลาที่อาศัยอยู่เริ่มลอยอืดขึ้นมาตายเหนือผิวน้ำหลายร้อยตัว อาทิ ปลาตะเพียน ปลาหมอเทศ ขณะที่ปลาอีกจำนวนมากเริ่มขาดอากาศหายใจ จนต้องลอยคอขึ้นมาเพื่อหายใจเหนือผิวน้ำ ทั้งนี้ผู้ชุมนุมบางส่วนช่วยกันเก็บเศษขยะออกจากคลอง ขณะที่บางส่วนก็ตักปลามาไว้ในกระป๋อง จากนั้นเจ้าหน้าที่พันธมิตรได้นำสารจุลินทรีย์ที่ใช้สำหรับปรับสภาพน้ำเทลงไปเพื่อให้น้ำมีสภาพดีขึ้นส่วนความเคลื่อนไหวบริเวณโดยรอบของที่ชุมนุมนั้น ยังคงมีการตรวจตราผู้ที่จะเข้าไปภายในที่ชุมนุมอย่างเข้มงวด และบริเวณทางเข้าป้ายประกาศหมายจับที่สะพานชมัยมรุเชฐ กลุ่มผู้ชุมนุมได้นำผ้าใบมาปูวางกับพื้นถนน พร้อมใช้น้ำมันเครื่องใช้แล้วมาราดเพื่อเป็นกับดัก เมื่อกลุ่มนปช.เข้ามาก็จะลื่นล้ม นอกจากนี้กลุ่มพันธมิตรนำกิ่งไม้ที่มีลักษณะเป็นหนามแหลมเต็มกิ่งมาวางไว้ด้านหลังเวทีที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ พร้อมนำกระป๋องสีที่ใช้แล้ว จำนวน 20 กระป๋อง และท่อนเหล็กขนาดเล็ก มาวางกองรวมกันเพื่อให้การ์ดพันธมิตรเคาะส่งสัญญาณ เพื่อให้ผู้ชุมนุมมารวมตัวกันหากมีกลุ่มผู้ไม่หวังดีเข้ามาก่อกวน

พธม.จวกยับนายกฯโกหก

จากนั้นเวลา 10.00 น. นายพิภพ ธงไชย พร้อมด้วยนายสมศักดิ์ โกศัยสุข แกนนำพันธมิตร แถลงข่าวที่รังนกกระจอก โดยนายพิภพ กล่าวว่า กลุ่มพันธมิตรขอต่อต้านการแถลงของนายสมัครในครั้งนี้ เนื่องจากบิดเบือนข้อเท็จจริง โกหกคำโต ถ้าพูดความจริงก็พูดอย่างคลุมเครือ ซึ่งอาจทำประชาชนที่ฟังอยู่เกิดความไขว้เขว พูดแบบนักโต้วาที โฆษณาชวนเชื่อโดยใช้สื่อเพื่อหยั่งเสียงประชาชนที่ยังไม่เลือกข้าง แต่เชื่อมั่นว่าหลังจากประชาชนฟังนายสมัคร จะทำให้ประชาชนออกมาร่วมชุมนุมมากขึ้นนายพิภพ กล่าวอีกว่า นายสมัครพูดบิดเบือนในหลายประเด็น เช่น บิดเบือนเรื่องความรุนแรงที่เกิดการปะทะระหว่าง กลุ่มนปช. กับกลุ่มพันธมิตร ทั้งที่พันธมิตรตั้งรับ แต่นปช.บุกเข้ามาทำร้ายจนนำมาสู่การประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน อีกทั้งความเชื่อมโยงระหว่างส.ส.พรรคพลังประชาชนกับนปช. ที่อยู่เบื้องหลังการชุมนุม ยังมีเรื่องนายเตช บุนนาค รมว.ต่างประเทศ เรื่องปัญหาปราสาทพระวิหาร"การที่นายสมัคร ยอมรับว่านายเตช ยื่นใบลาออกโดยให้เหตุผลว่านายเตชเป็นข้าราชการ ไม่ใช่นักการเมืองแสดงว่านายเตช เป็นคนที่มีจริยธรรมสูง หน้าบาง รัฐบาลถูกประชาชนต่อต้านทำให้นายเตช ต้องลาออกไม่สามารถอยู่ได้ แสดงว่านายสมัคร ยอมรับกลายๆ ว่านักการเมืองหน้าหนา ไม่มีคุณธรรมจริยธรรม ข้าราชการดีๆ ไม่สามารถทำงานได้" นายพิภพ กล่าว

พปช.ต้องออกทั้งพรรคด้วย

ด้านนายสมศักดิ์ กล่าวว่า การพูดของนายสมัครวันนี้ไม่มีอะไรเลย หลายคนคาดการณ์ว่านายสมัครจะประกาศลาออก แต่ไม่ลาออก เชื่อว่านายสมัคร อยากจะใช้สื่อเป็นเครื่องมือและหาโอกาสแทรกแซงเพื่อโฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งเคยทำสำเร็จมาแล้วเมื่อครั้ง 6 ตุลา ที่ให้ประชาชนออกมาฆ่าฟันกัน ถือเป็นธาตุแท้ของนายกฯที่ยังรักษาความเป็นจิตสำนึกของความเป็นเผด็จการนายสมศักดิ์ กล่าวถึงรัฐวิสาหกิจหยุดการตัดน้ำตัดไฟเพื่อให้กดดันรัฐบาลว่า เป็นเรื่องของรัฐวิสาหกิจที่ต้องดำเนินการและอยู่ในดุลพินิจว่าจะทำเมื่อไหร่ อย่างไร พันธมิตรเห็นชอบและสนับสนุนในหลักการ แต่พันธมิตรไม่มีอำนาจสั่งการ ทั้งนี้ มีหน่วยงานรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง อาทิ การรถไฟแห่งประเทศไทย การท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้หยุดให้บริการแล้ว ซึ่งอาจไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ทั้งหมด ซึ่งถือว่าได้ดำเนินการไปแล้ว ทั้งนี้การต่อสู้ยังต้องดำเนินต่อไป แม้นายสมัคร จะลาออกการชุมนุมยังคงต้องดำเนินการต่อไป โดยขึ้นอยู่กับสถานการณ์ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่ทั้ง 2 แกนนำเปิดโอกาสให้สื่อซักถาม ผู้สื่อข่าวจากหลายแขนงพยายามถามถึงข้อยุติในการชุมนุมว่าหากนายสมัครลาออกแล้ว กลุ่มพันธมิตรจะยุติการชุมนุมหรือไม่ แต่ทั้ง 2 แกนนำพยายามหลีกเลี่ยงการตอบคำถาม โดยให้เหตุผลว่าให้นายกฯลาออกก่อนแล้วค่อยมาพูดกันอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ยังบอกอีกว่าหากนายสมัครลาออกจริง พรรคพลังประชาชนจะต้องลาออกทั้งพรรค และนำไปสู่การเมืองใหม่

ไม่รับปากจะเลิกชุมนุมหรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การซักถามข้อสงสัยจากสื่อเป็นไปอย่างดุเดือดและเคร่งเครียด โดยพยายามถามให้ได้คำตอบที่ชัดเจนหลายต่อหลายครั้ง แต่นายพิภพกับนายสมศักดิ์ แกนนำทั้ง 2 ของพันธมิตรฯ ยังยืนยันคำเดิมว่า ต้องให้นายสมัครลาออกเสียก่อนแล้วค่อยมาพูดจากัน และขอร้องผู้สื่อข่าวว่าอย่าตั้งธงไปก่อนล่วงหน้าทั้งนี้ จากการสังเกตผู้สื่อข่าวต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า แกนนำกลุ่มพันธมิตรควรมีท่าทีที่ชัดเจนกว่านี้ และควรมีแผนสำรองหากนายกฯลาออกจริง ไม่เช่นนั้นการชุมนุมจะยังไม่ยุติ เพราะกลุ่มพันธมิตรจะมีข้อเรียกร้องในเรื่องอื่นๆ ตามมาเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้ประชาชาชนทั่วประเทศได้รับความเดือดร้อน ทั้งนี้ หลังจากการแถลงข่าว นายพิภพ ยังคงนั่งคุยกับผู้สื่อข่าวอย่างเป็นกันเอง เพื่อพยายามชี้แจงและตอบคำถามกับผู้สื่อข่าว แต่ก็ไม่ยอมพูดเรื่องท่าทีของพันธมิตรหากนายสมัครยอมลาออกจริงๆ

ห้ามขรก.เข้าไปเก็บเอกสาร

ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.ญ.วิจิตร งามขจรวิวัฒน์ แพทย์อาสาพันธมิตร กล่าวถึงสภากาชาดไทยขอความร่วมมือมายังแพทย์อาสาพันธมิตรให้เปลี่ยนสีของเครื่องหมายสัญลักษณ์สภากาชาดไทย จากสีแดงเป็นสีเขียวว่า ยืนยันว่าไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนสีของเครื่องหมายสัญลักษณ์ เนื่องจากเครื่องหมายดังกล่าวทำให้ประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมเห็นได้ชัด อีกทั้งเชื่อว่าการใช้สัญลักษณ์ดังกล่าวไม่ถือเป็นเรื่องเสียหาย เพราะก่อนหน้านี้ได้นำเรื่องดังกล่าวชี้แจงต่อแกนนำกลุ่มพันธมิตร ซึ่งได้รับคำยืนยันว่าไม่ต้องเปลี่ยน อย่างไรก็ตามตนจะทำหนังสือขออนุญาตใช้สัญลักษณ์ดังกล่าวต่อสภากาชาดไทยต่อไป โดยผู้ชุมนุมที่เข้ามาใช้บริการของแพทย์อาสาพันธมิตร พบว่า มีผู้ชุมนุมเข้าใช้บริการวันละ 100 คน ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชุมนุมที่สูงอายุ ป่วยด้วยโรคประจำตัว และมีสาเหตุจากพื้นที่การชุมนุมมีสภาพอากาศที่ร้อนและแออัดต่อมาพิธีกรได้ประกาศบนเวทีและสั่งการให้การ์ดพันธมิตรเฝ้าดูแลบริเวณประตูทางเข้าออกทำเนียบรัฐบาล ห้ามข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของทำเนียบเดินทางเข้ามาภายใน รวมทั้งห้ามนำเอกสารทางราชการที่เก็บไว้อาคารต่างๆ ออกไปจากทำเนียบเด็ดขาด โดยการ์ดพันธมิตรที่เฝ้าอยู่ตามประตูทางเข้าออก จะตรวจผู้ต้องสงสัยที่คาดว่าเป็นข้าราชการของทำเนียบทุกคน

พธม.ให้คนเจ็บลงชื่อยื่นฟ้อง

พิธีกรกล่าวต่อว่า อยากให้ผู้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ที่ตำรวจเข้าสลายการชุมนุมและรื้อเวทีบริเวณสะพานมัฆวาน โดยขอความร่วมมือให้ทุกคนที่ได้รับบาดเจ็บและผลกระทบมาเซ็นหนังสือมอบอำนาจให้ทนายของกลุ่มพันธมิตร เพื่อฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริเวณเต็นท์กองทัพธรรมที่ใช้เป็นศูนย์เซ็นชื่อและรับมอบอำนาจของผู้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บและผลกระทบจากเหตุการณ์รุนแรงที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าสลายการชุมนุมนั้น ปรากฏว่า มีผู้ชุมนุมมาเซ็นมอบอำนาจจำนวนมากต่อมานายประพันธ์ คูณมี อดีตสนช. กล่าวปราศรัยบนเวทีว่า สาเหตุที่นายสมัคร ออกมาพูดผ่านรายการวิทยุ คิดว่านายสมัครต้องการสื่อสารกับคนในชนบท ส่วนประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมือง ส่วนใหญ่รับรู้ข่าวสารได้ทางโทรทัศน์และอินเตอร์เน็ต ซึ่งทุกคนได้ฟังเรื่องนี้จบเบื่อแล้วพล.อ.ปานเทพ ภูวนารถนุรักษ์ อดีตสนช. ปราศรัยบนเวทีว่า ขณะนี้บ้านเมืองเกิดวิกฤต จึงขอเรียกร้องให้พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผบ.ทอ. ในฐานะผู้อาวุโสทางการทหาร อยากขอเชิญให้มาเป็นหนึ่งในแกนนำหรือมาพูดคุยทำความเข้าใจและพบปะหารือ เพื่อกำหนดท่าทีว่าหลังจากนี้จะดำเนินการอย่างไร สำหรับการเรียกร้องในครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อให้ออกมาฉีกรัฐธรรมนูญ แต่หากจำเป็นพวกเราก็ไม่ขัดข้อง ตนจึงอยากให้ท่านออกมาแสดงท่าที เพื่อช่วยเหลือประเทศชาติ ดีกว่าปล่อยให้ประเทศเสียหายมากไปกว่านี้

6 พรรคร่วมหนุนประชามติ

ที่รัฐสภา กลุ่มส.ส.จาก 6 พรรคร่วมรัฐบาล นำโดยนายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคพลังประชาชน, นายเอกพจน์ ปานแย้ม ส.ส.ปทุมธานี พรรคชาติไทย, นายสมชัย เจริญชัยฤทธิ์ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคประชาราช, นายเกียรติกร พากเพียรศิลป์ ส.ส.ปราจีนบุรี พรรคมัชฌิมาธิปไตย, นายอลงกต มณีกาศ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อแผ่นดิน และนางวศุลี สุวรรณปาริสุทธิ์ ส.ส.มุกดาหาร พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา ร่วมกันแถลงข่าวสนับสนุนแนวทางที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ทำประชามติเพื่อขอความคิดเห็นของประชาชนในการแก้ไขวิกฤตชาตินายพีรพันธุ์กล่าวว่า จากการหารือของส.ส. 6 พรรคร่วมรัฐบาล ทุกคนเห็นตรงกันสนับสนุนมติ ครม.ที่ให้ทำประชามติ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องการเมืองจึงต้องแก้ด้วยการเมือง โดยถามผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยว่าคิดอย่างไร และรัฐบาลควรแก้ไขปัญหาอย่างไร ส่วนที่ฝ่ายค้านระบุการทำประชามติขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 165 นั้น รัฐบาลเลี่ยงได้โดยไม่ใช้คำว่าถามประชามติ แต่ใช้คำว่าถามความเห็นประชาชน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวไม่ได้ทำให้ประชาชนเลือกข้าง

ส่งตัวแทนทุกพรรคเจรจาพธม.

ด้านนายสมชัยกล่าวว่า พรรคประชาราชเห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว แต่ควรถามว่ารัฐบาลควรบริหารประเทศอยู่ต่อไปหรือไม่ ถ้าผลออกมาว่าไม่ควรบริหารประเทศต่อรัฐบาลต้องยุบสภาไปนายเกียรติกรกล่าวว่า นอกจากการทำประชามติแล้ว ฝ่ายนิติบัญญัติจะดำเนินการทางลับ ประสานกับตัวแทนพันธมิตรฯ เพื่อเจรจาหาทางออกให้กับประเทศ ซึ่งเป็นการดำเนินการอย่างไม่เป็นทางการและไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ ทั้งนี้ การเจรจาจะส่งตัวแทนของพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านพรรคละ 1 คนไปเจรจา ซึ่งไม่ได้ไปในนามรัฐบาล แต่ไปในนามของพรรคการเมืองมีกำหนดนัดหารือเวลา 14.00 น.ของวันนี้

ยื่นฟ้องกลุ่มส.ว.ล้มล้างปชต.

ที่รัฐสภา นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ พรรคพลังประชาชน แถลงว่า ส.ส.พรรคพลังประชาชนรวม 17 คน ร่วมกันลงชื่อ เพื่อยื่นหนังสือต่ออัยการสูงสุด พร้อมแนบดีวีดีบันทึกภาพของส.ว.ที่ขึ้นปราศรัยของเวทีปราศรัยของกลุ่มพันธมิตรฯ ให้พิจารณากรณีการขึ้นเวทีปราศรัยที่ทำเนียบรัฐบาลของกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อค่ำวันที่ 29 ส.ค.ที่ผ่านมา เพราะเห็นว่า ส.ว.กลุ่มดังกล่าวร่วมกระทำความผิดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ในหมวดสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญที่ระบุบุคคลจะใช้สิทธิในการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยไม่ได้ เนื่องจากการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ อ้างการใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 63 ที่ระบุว่าการชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ แต่กลับพบว่ามีอาวุธและสิ่งเสพติดในการชุมนุม และบุกรุกสถานที่ราชการ โดยมีเป้าหมายที่จะล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเพื่อให้ได้ซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญนายสุรพงษ์กล่าวว่า มีส.ว.บางคนระบุได้เป็นส.ว.เพราะร่วมเวทีพันธมิตรฯ ถือเป็นการยอมรับว่าร่วมกระทำความผิดข้อหากบฏแผ่นดินเช่นเดียวกับกลุ่มพันธมิตรฯ ทั้งที่ส.ว.ต้องวางตัวเป็นกลาง ซึ่งข้อมูลที่จะยื่นต่ออัยการสูงสุดวันนี้จะไม่ระบุชื่อกลุ่มส.ว. เพราะภาพบันทึกในดีวีดีนี้มีการแนะนำตัวชัดเจน โดยระบุแค่ว่าเป็นกลุ่มส.ว.ที่ปรากฏในภาพข่าวบ่อยๆ อาทิ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. เป็นต้น

"ชัย"ปัดสอบรมต.หนุนนปช.

ส่วนนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงฝ่ายค้านยื่นเอกสารหลักฐานให้ตรวจสอบว่าอาจมีรัฐมนตรีและส.ส.พรรคพลังประชาชนมีส่วนจ้างวานผู้ชุมนุมในส่วนของ นปช.ว่า ความจริงเป็นความผิดอาญา ซึ่งตนปรึกษากับที่ปรึกษากับฝ่ายกฎหมายของรัฐสภาแล้ว และได้ทำหนังสือตอบไปยังนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประธานวิปฝ่ายค้านแล้วตั้งแต่วันที่ 3 ก.ย. ทั้งนี้ไม่ใช่หน้าที่ของประธานสภาที่จะตรวจสอบเรื่องนี้ จึงส่งเรื่องไปให้ประธานคณะกรรมการกิจการสภา เพื่อศึกษาและสอบสวนข้อเท็จจริงโดยด่วนและแจ้งผลการศึกษามาให้ตนทราบ ความจริงเป็นเรื่องประธานวิปฝ่ายค้าน เมื่อรู้เรื่องนี้ซึ่งเป็นเรื่องอาญาของแผ่นดินก็ดำเนินคดีได้ แจ้งความดำเนินคดีได้ทันทีไม่มีปัญหาที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ นายชัช ชลวร ประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงศาลปกครองจะส่งสำนวนที่นายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความสิทธิมนุษยชน จากสภาทนายความยื่นฟ้องนายสมัคร สุนทรเวช กรณีที่ลงนามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 2 ก.ย.51 เพื่อขอให้ศาลยกเลิกเพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมายังศาลรัฐธรรมนูญว่า เรื่องนี้หากมาถึงศาลรัฐธรรมนูญ คณะตุลาการจะต้องมาพิจารณาว่ากรณีดังกล่าวเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องรีบพิจารณาหรือไม่ หากที่ประชุมเห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนก็ต้องเร่งพิจารณา อย่างไรก็ตาม ต้องดูก่อนว่าศาลปกครองจะส่งสำนวนมาเมื่อไหร่

ปชป.คัดค้านทำประชามติ

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคฝ่ายค้าน (วิป) กล่าวถึง ครม.มีมติให้ทำประชามติเกี่ยวกับการชุมนุมของพันธมิตรฯ และการบริหารประเทศของรัฐบาลว่า เท่าที่ตรวจสอบรัฐธรรมนูญในทางปฏิบัติไม่สามารถทำได้ เนื่องจากการใช้กฎหมายประชามติเพื่อแก้ปัญหาการชุมนุมจะติดปัญหา 2 ข้อ คือ 1.รัฐธรรมนูญ มาตรา 165 ระบุชัดว่าการจัดการเอาเสียงประชามติในเรื่องที่ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญ หรือเกี่ยวกับตัวบุคคล หรือคณะบุคคล จะกระทำมิได้ ซึ่งพันธมิตรฯ ถือว่าเป็นตัวบุคคลหรือคณะบุคคล เพราะหากใช้ประชามติแล้วไปถามประชาชนว่า ควรให้พันธมิตรฯ ชุมนุมต่อหรือไม่ อาจขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 63 ถ้าต้องการทำประชามติว่าคนเห็นด้วยกับรัฐบาลหรือไม่ วิธีการที่ดีที่สุดคือยุบสภาแล้วไปเลือกตั้งใหม่ เพราะงบเลือกตั้งกับงบทำประชามติพอกันนายสาทิตย์กล่าวว่า 2.ขณะนี้กฎหมายประชามติยังไม่มีผลบังคับใช้ อยู่ที่วุฒิสภา ยังไม่ทราบว่าวุฒิสภาจะแก้ไขหรือไม่ ดังนั้นด้วยเหตุผลนี้ต้องกระทำมิได้ แม้รัฐบาลอาจชี้ทางเลือกอื่น เช่น การออกพ.ร.ก. ก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากต้องออกเป็นพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเท่านั้น เชื่อว่ากฤษฎีกาจะไม่หลับหูหลับตาทำตามคำสั่งรัฐบาล สิ่งที่น่าห่วงวันนี้ไม่ใช่การทำประชามติ แต่เป็นท่าทีที่แข็งกร้าวของนายกฯ สะท้อนให้เห็นว่า นายกฯ ยังยืนยันจะอยู่ในตำแหน่งต่อไป โดยไม่สนใจว่าปัญหาใดๆ จะเกิดขึ้น และส่งผลให้การแบ่งขั้วมีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งเรากังวลว่าการใช้วิธีถามประชามติเพื่อแก้ปัญหาอาจกลายเป็นการเพิ่มความขัดแย้งมากขึ้น รัฐบาลน่าจะมีวิธีคิดที่มีสติกว่านี้

ฮึ่มยื่นถอดถอนนายกฯ

ต่อมาส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ 14 คน นำโดยนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค นายทิวา เงินยวง แถลงไม่เห็นด้วยกับท่าทีของส.ส.พรรคพลังประชาชนที่เข้ายื่นหนังสือต่อผบ.ทบ.ให้ใช้ความรุนแรงจัดการกับกลุ่มพันธมิตรฯ ว่า เสียใจกับการกระทำของส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง ความคิดอย่างนี้ไม่ควรเกิด ขอให้รัฐบาลยกเลิกการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สถานการณ์ขณะนี้ไม่มีความรุนแรงแล้ว การออกพ.ร.ก.ดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญ สร้างสถานการณ์ให้รุนแรงเพื่อให้เกิดความชอบธรรมในการใช้พ.ร.ก. หากศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่ารัฐบาลไม่สามารถออกพ.ร.ก.นี้ได้ กลุ่มส.ส.ประชาธิปัตย์จะรวบรวมรายชื่อยื่นถอดถอนนายกฯ ทันที ทั้งนี้มีกระแสข่าวว่าคืนวันที่ 3 ก.ย.มีความพยายามจะวางระเบิดตามจุดสำคัญในกทม. สร้างสถานการณ์ความรุนแรงอีกครั้งเพื่อคงการบังคับใช้พ.ร.ก.เอาไว้ แต่ไม่เป็นผล เจ้าหน้าที่ตำรวจไหวตัวทัน สามารถป้องกันไว้ได้ วันเดียวกันนี้ก็ทราบว่ามีความพยายามสร้างความปั่นป่วนขึ้นอีก เช่น ปล่อยข่าวว่าจะไปเผาที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ ขอให้ผบ.ทบ.ป้องกันความรุนแรงด้วย

ปธ.วุฒิชี้ทำประชามติไม่ทัน

ด้านนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ถึงรัฐบาลเสนอให้ทำประชามติว่า กฎหมายประชามติจะเข้าสู่การพิจารณาวันที่ 5 ก.ย. โดยตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณา แต่คงไม่ถึงขั้น 3 วาระรวด สถานการณ์ขณะนี้ต้องคลี่คลายโดยเร็วที่สุด รอกฎหมายฉบับนี้ที่ต้องใช้เวลาอย่างเร็วที่สุดคือ 1 เดือนไม่ได้ เมื่อถามว่าทางออกในการแก้ไขปัญหาโดยเร็วหมายถึงอะไร นายประสพสุขกล่าวว่า รัฐบาลก็แก้ได้ วันที่ 5 ก.ย.จะหารือกันระหว่างประธานสภา ตน และผู้นำฝ่ายค้านว่าจะแก้วิกฤตอย่างไร จะมีประชุมสภาร่วมหรือมีมาตรการอย่างอื่น แต่เชื่อว่าคงคลี่คลายได้ ต่อข้อถามการประชุมร่วมที่ผ่านดูเหมือนนายกฯ ไม่รับและนำไปแก้ไขปัญหา นายประสพสุขกล่าวว่า อย่าเพิ่งท้อถอย ก็ประชุมกันใหม่ว่าเราจะทำอย่างไร จะมีมาตรการอย่างไรให้สถานการณ์คลี่คลายโดยเร็ว ไม่ให้ประเทศชาติเสียหาย ต่อข้อถามการหารือวันที่ 5 ก.ย. วุฒิสภาจะเสนอทางออกอย่างไร ประธานวุฒิสภากล่าวว่า ต้องดูว่าจะมีมติอย่างไร จะประชุมร่วมกันอีกหรือไม่ หรือจะใช้มาตรการอื่น วันเดียวกันนี้ตนรับประทานอาหารร่วมกับคณะกรรมาธิการวุฒิสภาบางคณะ บางคนเห็นว่าการประชุมร่วมไม่มีประโยชน์ แต่บางคนเห็นว่ายังมีประโยชน์ น่าจะหาทางออกได้ เมื่อถามว่าการเสนอทางออกโดยทำประชามติเป็นการยื้อเวลาของรัฐบาลหรือไม่ นายประสพสุขกล่าวว่า ไม่ทราบ แต่รัฐบาลต้องรีบแก้ปัญหาให้ความสงบสุขกลับมาโดยเร็ว

หมักย้ำอีกไม่ออก-ไม่ยุบสภา

ต่อมาบ่ายวันเดียวกัน นายสมัครให้สัมภาษณ์สดผ่านรายการ "คุยได้คุยดี" ทางสถานีวิทยุเอฟเอ็ม 96.50 เมกะเฮิร์ตซ์ ผู้ดำเนินรายการถามว่า แม้จะปฏิเสธไม่ใช่นอมินีอดีตนายกฯ ทักษิณ แต่คนยังมองว่ามีการเอื้อกันอยู่ เช่น กรณีพาสปอร์ตแดง ที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอเรื่องมาให้นายกฯ ตัดสินใจ นายสมัครกล่าวว่า ที่จริงเป็นการตัดสินใจของกระทรวงการต่างประเทศแต่โยนมาให้ตน พาสปอร์ตแดงจะยกเลิกก็ทำได้แต่ถามว่าพาสปอร์ตแดงจะทำอะไรได้ ขนาดตนมีพาสปอร์ตแดงยังถูกค้นกระเป๋า แต่เมื่อเขาส่งเอกสารมาตนก็แจ้งไปแล้วว่าเรื่องนี้กระทรวงตัดสินใจเองได้ และหากวันนี้จะยกเลิกพาสปอร์ตแดงทันทีก็ไม่มีอะไรเสียหายนายสมัครกล่าวว่า มีคนเรียกร้องให้ลาออก ยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ หากทำเช่นนั้นโลกจะเห็นว่าบ้านเมืองเราป่าเถื่อน การตัดสินใจลาออกหรือยุบสภาไม่ใช่เรื่องยาก แต่ตนต้องตัดสินใจอยู่เพราะหลายประเทศที่อยู่ในบ้านเรามี 96 กงสุลคงรับไม่ได้ และหากมาสั่งให้ยุบสภาตนไม่ทำ ตอนนี้เหตุการณ์เริ่มหย่อนแล้ว เพราะตนพูดกับประชาชนทั้งประเทศเพื่อแสดงให้เห็นว่าคนพวกนั้นทำอะไร จะออกโทรทัศน์ จะพูดอีก จะให้ประชาชนเห็นว่าคนพวกนั้นเป็นใคร ตนมีหน้าที่รับผิดชอบต้องดูแลบ้านเมือง จึงไม่กลัวคนที่มาข่มขู่ มาตรฐานที่ตนตั้งไว้เชื่อว่าต่อให้ตนตายไปกี่สิบกี่ร้อยปีก็ต้องมีคนพูดถึง แต่หลังจากนี้ตนจะเดินหน้าแจ้งให้ประชาชนที่อยู่ต่างจังหวัดรับทราบ

สั่งปิดทำเนียบ-ให้ออกไม่ให้เข้า

เมื่อถามถึงการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน นายสมัครกล่าวว่า การประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินจะยกเลิกโดยเร็วที่สุดเพราะในสังคมโลกไม่ควรอยู่นาน แต่เมื่อมาเจอปัญหาความไม่มีเหตุผล ไม่เคารพศาล ตนจึงยอมให้เกิดเรื่องนี้ขึ้นในบ้านเมืองไม่ได้ อยากให้ตั้งข้อสังเกตว่าทำไมปิดสนามบินเฉพาะ 4 แห่งภาคใต้ ทำไมจึงหยุดการเดินรถไฟเฉพาะภาคใต้ คนมักคิดว่าหลังการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อทหารมีปืนหรือดาบในมือก็ยิงฟันได้ทันที แต่เราขอให้ยืนคุมเชิงไว้ก่อน โดยตกลงกับผบ.ทบ.ให้ปิดล้อมทำเนียบให้ออกไม่ให้เข้า รู้มาว่าข้างในอยากออกแต่เขาไม่ยอมให้ออก ในทำเนียบบรรยากาศไม่ได้สวยงามเหมือนวันที่ 26 ส.ค. ตามรายงานมีคนอยู่ 3,000 คน คืนวันที่ปะทะกันดูจากภาพข่าวถึงตัดสินใจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน นั่งดูตอนตี 2 เซ็นให้มีประกาศตอนตี 5 ครึ่งนายสมัครกล่าวว่า คุยกับผบ.ทบ. ทหารก็แนะว่าเปิดไปมีแต่กำแพงแต่ที่สภามีประตู หมายถึงต้องกลับไปสภา ดูในมาตรา 165 วรรคแรก หากลงตัวคือ ประชาชนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงย่อมมีสิทธิ์ในการลงประชามติ นี่ต่างหากประตูทางออกที่สภา มาตรา 165 วรรคหนึ่ง สามารถทำได้เมื่อมีข้อขัดแย้งที่หาทางออกไม่ได้ กฤษฎีกาจะเป็นผู้ยกร่างให้ ตัวอย่างเช่น ให้ประชาชนลงประชามติว่าสิ่งที่พันธมิตรฯ ทำก็ให้ลงเครื่องหมายถูก หากเห็นว่ารัฐบาลทำถูกต้องก็ให้ลงเครื่องหมายถูก ใช้เวลา 1 เดือนในการรณรงค์ ระหว่างนี้ยึดทำเนียบไปก่อนได้ไม่มีปัญหา ขอฝากไปยังวุฒิสมาชิกขอให้พิจารณาพ.ร.บ.ประชามติใน 3 วันได้หรือไม่ และนี่คือประตูทางออกที่พล.อ.อนุพงษ์พูดถึง

ยัน 5 พรรคร่วมมีความสุขดี

เมื่อถามว่าหากเกิดเหตุอันไม่คาดฝัน นายสมัครกล่าวว่า ถ้าหมายถึงการปฏิวัติ ถ้าเราไม่ทำ ทหารก็ไม่ทำ ก็ไม่มีคนทำ เชื่อว่าทุกเรื่องจะมีจุดจบของมัน ไม่ถึงต้องยื่นคำขาดจะจบเองโดยสภาพของมันเอง เมื่อเขาเสนอการเมืองใหม่ต้องมี 70 : 30 ถ้าเริ่มต้นก็ต้องแก้รัฐธรรมนูญอีก ถ้าใครจะร่วมหัวจมท้ายขอให้คิดว่าจุดหมายปลายทางอยู่ตรงไหน การแก้รัฐธรรมนูญที่หลายฝ่ายยังมองว่าตนต้องการแก้มาตรา 309 นั้น ยืนยันว่าไม่ต้องการแก้ เพราะทุกคดีขึ้นศาลหมดแล้ว จะช่วยอะไรได้ ส่วนรายการชิมไปบ่นไปหากมีปัญหาและพิจารณาให้พ้นจากตำแหน่ง ตนก็พร้อม นอกจากนี้ คดีเกี่ยวกับรองผู้ว่าฯ กทม.ซึ่งจะพิจารณาในวันที่ 25 ก.ย.นั้น ตนขอเลื่อนการอ่านคำพิจารณาไป 7-8 วัน เนื่องจากต้องเดินทางไปกล่าวในการประชุมที่สหประชาชาติในวันที่ 26 ก.ย.เมื่อถามถึงการติดต่อกับพ.ต.ท.ทักษิณ นายสมัครกล่าวว่า ตนไม่เคยติดต่อไปเองแต่มีการส่งข้อความถึงกัน โดยมีคนกลางประสาน ตนพูดผ่านล่ามเพราะไม่ต้องการให้คนว่าตนติดต่อไป เขาตัดขาดตั้งแต่วันที่ภรรยาเขามีคดีความ ตนยังบอกผ่านล่ามไปว่าจะไปเดินให้เขาถ่ายรูปทำไม นี่คือความสัมพันธ์เท่าที่มีอยู่ เมื่อถามถึงพรรคร่วมรัฐบาล นายสมัครกล่าวว่า เขามีความสุขทั้ง 5 พรรคที่ทำงานด้วยกัน มีบางพรรคที่ตอนแรกถอนไปแต่พรรคพวกเขาไม่ถอน นายบรรหาร ศิลปอาชา ก็อาวุโส ทุกคนอยู่กันแบบไม่มีความขัดแย้ง

ลุยออกวิทยุ-ทีวีชี้แจงประชาชน

นายสมัครให้สัมภาษณ์ภายหลังออกรายการถึงแนวคิดการทำประชามติว่า แม้จะต้องใช้เวลาแต่คณะทำงานตามพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะต้องดูแลความเดือดร้อนของประชาชนที่เกิดจากการชุมนุม ถ้าสามารถควบคุมการชุมนุมให้อยู่ในกรอบได้ก็จะยกเลิกการพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อไม่ให้การทำประชามติสะดุด โดยตนจะใช้เวลา 30 วันในการรณรงค์เรื่องทำประชามติ ซึ่งจะตระเวนชี้แจงทางวิทยุและโทรทัศน์ 140 สถานีนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ คงต้องปล่อยให้ชุมนุมกันต่อไปและขณะนี้ได้ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาไปดูและร่างเกณฑ์การทำประชามติแล้ว ดังนั้น พันธมิตรฯ ก็สามารถใช้เวลาในช่วงก่อนลงประชามติรณรงค์เนื้อหาตามแนวคิดของตัวเองได้ หากคนส่วนใหญ่ของประเทศเห็นด้วยกับการกระทำของกลุ่มพันธมิตรฯ ก็ต้องหันกลับมามองในเรื่องการแก้ไขกฎหมาย แต่หากผลการทำประชามติออกมาว่ากลุ่มพันธมิตรฯ กระทำไม่เหมาะสมก็ต้องมีกติกาว่าต่อไปจะทำอย่างนี้ไม่ได้

จะยุบสภาเมื่อมีความเหมาะสม

เมื่อถามว่าหากมีการกล่าวหารัฐบาลล็อกผลประชามติ หรือซื้อเสียงจะแก้ข้อกล่าวหาอย่างไร นายสมัครกล่าวว่า ยังไม่ทันทำเลยก็จะมากล่าวหากันแล้วหรือ เรื่องการทำประชามติก็มี กกต. เป็นผู้ดูแลอยู่ ให้ กกต.เป็นผู้รับผิดชอบไป เมื่อถามว่าหากมีการนัดหยุดงานหรือปิดถนนอาจทำให้ประชาชนเดือดร้อน รัฐบาลจะแก้ปัญหาอย่างไร นายกรัฐมนตรีย้อนถามว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้เป็นเพราะสื่อช่วยกันประโคมข่าวใช่หรือไม่ ขณะนี้มีคณะกรรมการตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินคอยดูแลอยู่ รัฐบาลคงไม่ไปเจรจากับพันธมิตรฯ และทางพันธมิตรฯ ก็คงไม่อยากเจรจากับรัฐบาล
เมื่อถามว่าหากพันธมิตรฯ ยอมถอย 1 ก้าว ด้วยการยอมรับการเลือกตั้งใหม่ตามรัฐธรรมนูญ 2550 นายกฯ จะทบทวนการตัดสินใจยุบสภาหรือไม่ นายสมัครกล่าวว่า การเลือกตั้งใหม่จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีการยุบสภา แต่ไม่มีใครสามารถบังคับให้ตนตัดสินใจยุบสภาได้ การตัดสินใจยุบสภาไม่ใช่เรื่องยากแต่ต้องเป็นไปตามความเหมาะสมผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมวุฒิสภา วันที่ 5 ก.ย. มีวาระสำคัญคือ เรื่องด่วนร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ..... ที่สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบแล้ว ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าววุฒิสภาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 302 วรรคสี่และวรรคหก นับตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.51

บิ๊กทหารชี้ต้องลดเงื่อนไข

เวลา 14.00 น. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ได้เรียกประชุมคณะทำงานแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานด้านความมั่นคงและส่วนราชการต่างๆ เข้าร่วมหารือรวม 20 องค์กร อาทิ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. พล.ท.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 1 ในฐานะรองหัวหน้ารับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์พล.ท.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 1 ให้สัมภาษณ์ว่า พล.อ.อนุพงษ์กังวลว่าจะทำอย่างไรเพื่อทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อยโดยเร็ว โดยไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ และเจ้าหน้าที่ไม่ต้องถูกมองว่าใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา บ้านเมืองเรามีประวัติศาสตร์อยู่แล้วว่าการใช้ความรุนแรงไม่เกิดผลดี เพราะทั้งสองฝ่ายเป็นคนไทยด้วยกันทั้งคู่ และต่างมีเงื่อนไขของตัวเอง ถ้าไม่ลดราวาศอกซึ่งกันและกันไม่ว่าจะมีกฎหมายใดก็แก้ไขไม่ได้ และจะต้องมุ่งไปสู่ความรุนแรง เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ถูกสั่งการชัดเจนว่าจะต้องใช้มาตรการที่ไม่รุนแรง เพื่อทำให้เกิดความสงบเรียบร้อยมากที่สุด ต้องพยายามหาวิธีในการลดเงื่อนไขของแต่ละฝ่ายกันไป

วอนอย่าชุมนุมเพิ่มอีกเลย

พล.ท.ประยุทธ์กล่าวว่า หลังประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก เราจะไม่เข้าไปรบกวนในกิจวัตรจำเป็นของประชาชน มาตรา 9 มีอยู่หลายข้อหลายประการด้วยกัน และมีการหารือร่วมกันของเจ้าหน้าที่ในหลายกระทรวงและตำรวจแล้วว่าข้อห้ามหลายๆ ประการเรายังไม่มีความจำเป็นต้องใช้อย่างเด็ดขาด เช่น การชุมนุมหรือมั่วสุมเกิน 5 คน ถ้าเป็นการดำเนินการตามชีวิตประจำวันไม่ได้ไปมั่วสุมทำให้เกิดการแตกแยก หรือยุยงต่างๆ คงไม่ไปรบกวน แต่อยากจะเรียนว่าปัจจุบันมีอยู่ 2 กลุ่มที่เกิดปัญหา ทางเราพยายามแก้ไขปัญหาอยู่ แต่ยังไม่สามารถปฏิบัติได้ เพราะมีสถานการณ์ฉุกเฉินมากมาย ไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งหรือข้อห้าม พล.ท.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่ใช่ว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำอะไรเลยหลังจากที่มีการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2 วันที่ผ่านมามีการประชุมทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน ตำรวจ ทหาร ว่าจะทำอย่างไรจึงจะเอามาตรการต่างๆ มาใช้ในสถานการณ์และเวลาที่เหมาะสม ไม่ได้หมายความว่ากฎหมายทั้งหมดที่มีอยู่จะนำมาใช้ทั้งหมด เพราะจะทำให้เกิดความสับสนและวุ่นวายในการใช้ชีวิตประจำวันของทุกคนและจะไม่เกิดผลดี โดยเฉพาะในเขตพื้นที่กทม. ตอนนี้เกิดพื้นที่วุ่นวายอยู่ 2 ที่ เราก็คาดหวังว่าที่อื่นๆ จะไม่มีอีก ซึ่งวิธีการแก้ไขปัญหาคือไม่ใช่วิธีการไล่ปราบปราม เราได้ขอร้องไปทางสื่อทั้งทางปิดและทางเปิด เจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมือง กทม. ในการทำความเข้าใจกับประชาชนว่าอย่ามาชุมนุมเพิ่มขึ้นอีก เราพยายามทำด้วยวิธีละมุนละม่อม

"ปฏิวัติ"แค่ข่าวโคมลอย

เมื่อถามว่าคณะกรรมการชุดนี้จะเน้นเจรจามากกว่าการใช้กำลัง พล.ท.ประยุทธ์กล่าวว่า ใช้คำว่าทำความเข้าใจให้มากขึ้น เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดเพียง 2-3 วัน แต่เกิดมา 3 เดือนกว่า หรือประมาณ 100 กว่าวัน ฉะนั้นเงื่อนไขต่างๆ สะสมมาเรื่อยๆ เมื่อถามว่าทางกองทัพได้เตรียมกำลังทหารและตำรวจ ที่จะเข้าไปดูแลสถานการณ์ในยามค่ำคืนเพื่อป้องกันไม่ให้ 2 ฝ่ายเกิดการปะทะกันมีมากน้อยแค่ไหน พล.ท.ประยุทธ์กล่าวว่า ได้ประสานงานการทำงานกันทั้งทหารและตำรวจ เรามีกำลังพร้อมดูแลหลายพันนาย ถือว่าพอเพียงที่ไม่ให้เกิดการทะเลาะวิวาทกัน หรือปะทะกันของทั้งสอง ได้เตรียมความพร้อมตั้งแต่เกิดเหตุการณ์เมื่อคืนวันที่ 2 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่เมื่อมีการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินทหารก็สามารถทำได้ แต่ถ้าไม่ประกาศทหารก็ทำอะไรไม่ได้พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผบ.สส. ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์หลังจากนายสมัครยืนยันไม่ยุบสภาไม่ลาออกว่า สถานการณ์ยังไม่เปลี่ยนแปลง ต้องอดทนและสงบเพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรง เดี๋ยวคงคิดอะไรกันออก ตอนนี้คงยังคิดไม่ออกว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร เวลาอาจทำให้ปัญหาคลี่คลายไปเองหรือคิดอะไรกันออก แต่เมื่อยิ่งเวลาผ่านไปเท่าใดผลกระทบกับประเทศชาติก็จะมากขึ้น คงไม่มีอะไรดีกว่าการใช้สติ ใช้ปัญญาไตร่ตรองให้ดี ในส่วนของผู้บัญชาการเหล่าทัพได้พูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์กันบ้าง แต่ปัญหาเป็นอย่างที่เห็นเพราะไม่มีอะไรที่จะทำให้คิดทะลุออกมาได้ ส่วนกระแสข่าวการปฏิวัติเป็นเพียงข่าวโคมลอย พูดกันไปเรื่อย ไม่มีพื้นฐานอะไร กองทัพพูดมาตลอดว่าไม่มีและการปฏิวัติไม่ใช่วิธีที่จะแก้ปัญหา

ตร.ยังเน้นเจรจา-ไม่ใช้กำลังแน่

ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ต.สุรพล ทวนทอง รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงบทบาทของสำนักงานตำรวจแห่งชาติภายหลังจากที่รัฐบาลประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินว่า ตำรวจมีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ส่วนการดูแลการชุมนุมนั้น ตำรวจและฝ่ายทหารมีหน้าที่ร่วมกันในการรักษาความสงบเรียบร้อยให้กับผู้ชุมนุมทั้ง 2 ฝ่าย โดยจะไม่ใช้กำลังกับกลุ่มผู้ชุมนุมและประชาชนอย่างเด็ดขาด ซึ่งฝ่ายทหารได้จัดกำลังไว้ในที่ตั้งเพื่อคอยสนับสนุนการทำงานของตำรวจในกรณีที่เกิดเหตุการณ์รุนแรงเท่านั้น ส่วนการสั่งการนั้น ผบช.น.จะประสานงานโดยตรงกับแม่ทัพภาค 1 ตลอดเวลา และหากตำรวจมีการเคลื่อนย้ายกำลังหรือกำหนดจุดวางกำลังต้องรายงาน ศปก.ทบ. ศปก.พล.1 รอ. เนื่องจากการเคลื่อนกำลังต่างๆ ต้องได้รับความเห็นชอบจาก ผบ.ทบ.ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน อย่างไรก็ตาม จากการประเมินสถานการณ์ร่วมกันในขณะนี้ของทั้งฝ่ายตำรวจและทหารเห็นว่าการวางกำลังได้มีความเหมาะสมอยู่แล้ว รองโฆษก ตร.กล่าวต่อว่า ตำรวจยังมีหน้าที่สร้างความเข้าใจกับประชาชนในประเทศให้ทราบถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อไม่ให้เดินทางเข้ามาร่วมชุมนุมในกรุงเทพฯ นอกจากนี้ตำรวจยังต้องมีบทบาทในเรื่องของการเจรจาและการใช้กลไกกฎหมายโดยไม่ใช้กำลังในการปฏิบัติกับทุกฝ่าย ส่วนกรณีที่หน่วยงานของตำรวจอาจถูกตัดน้ำตัดไฟตามที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจได้ประกาศไว้นั้น ผบ.ตร.ได้สั่งการให้หัวหน้าหน่วยงานของ ตร.ประสานงานกับอาคารข้างเคียงเพื่อขอเชื่อมต่อไฟฟ้าและน้ำประปาเอาไว้แล้ว อย่างไรก็ตามในเรื่องนี้ ตร.ก็ได้เคยหารือและขอร้องกับแกนนำของสหภาพไปก่อนหน้านี้แล้ว เนื่องจากการกระทำดังกล่าวจะสร้างความเสียหายเดือดร้อนให้กับประชาชนเป็นจำนวนมาก อีกทั้งอาจจะเป็นเหตุให้ชาวบ้านออกมาต่อต้านผู้ที่กระทำการดังกล่าวอีกด้วย

ยังไม่มีหมายจับแกนนำรุ่น 2

รองโฆษก ตร.กล่าวถึงกระแสข่าวตำรวจเตรียมขออนุมัติหมายจับเพิ่มแกนนำพันธมิตรฯ รุ่น 2 ว่า ในขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานเรื่องดังกล่าว แต่ขบวนการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานยังคงดำเนินการอยู่ และอยากเรียนสื่อมวลชนว่า ในขณะนี้มีข่าวลือข่าวปล่อยปรากฏอยู่เป็นจำนวนมากจึงอยากให้ระมัดระวังในการนำเสนอข่าว ส่วนเรื่องดังกล่าวหากมีพนักงานสอบสวนมีการดำเนินการขออนุมัติหมายจับจากศาลจริง ทีมงานโฆษก ตร.ก็จะแจ้งให้ทราบทันทีผู้สื่อข่าวถามว่าเหตุใด ตร.ถึงไม่มีการแจกจ่ายประกาศสืบจับ 9 แกนนำพันธมิตรฯ เช่นเดียวกับกรณีของอดีตนายกฯ ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร พล.ต.ต.สุรพลกล่าวว่า ในขั้นตอนการดำเนินการนั้น ตร.ได้ปฏิบัติเช่นเดียวกันแต่ขณะนี้อยู่ในช่วงเวลาที่มีการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หากมีการกระทำเช่นนั้นอาจจะก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคมเพิ่มมากขึ้น จนสถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก ตำรวจเองก็มีหน้าที่ที่จะต้องช่วยประคับประคองให้ประเทศไทยของเราพ้นออกไปจากปากเหวให้ได้ผู้สื่อข่าวถามอีกว่าตำรวจเองทราบดีว่าผู้ต้องหาทั้ง 9 ปรากฏตัวให้เห็นอยู่ในทำเนียบแต่ตำรวจไม่ได้ดำเนินการจับกุม ไม่กลัวหรือว่าประชาชนจะบอกว่าตำรวจเลือกปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ พล.ต.ต.สุรพลกล่าวว่า หากตำรวจเข้าไปจับกุมแล้วเกิดเหตุมีการปะทะกันขึ้น จนเสียเลือดเสียเนื้อ สถานการณ์ก็จะยิ่งปานปลาย เรื่องนี้จึงเป็นปัญหาที่ละเอียดอ่อนเช่นที่ ผบ.ทบ.บอกว่าถ้าต้องการจับหนูแต่ถึงกับต้องรื้อหลังคาบ้านมันไม่คุม อีกทั้งหมายจับมีอายุความถึง 20 ปี ถ้าจับแล้วต้องมีการเสียเลือดเสียเนื้อก็คงไม่ได้ ก่อนหน้านี้มีการปะทะกันตอนที่ไปติดหมายยังแก้ปัญหากันไม่จบ

ตัดพ้อกลุ่มผู้ชุมนุมล้ำเส้น

"เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องทำความเข้าใจ เรื่องการเมืองก็ต้องแก้ด้วยการเมือง ตอนนี้สิ่งที่ต้องทำคือทำอย่างไรให้ประชาชนปลอดภัยมากที่สุด ตอนนี้ตำรวจถูกกดดันจากองค์กรต่างๆ อย่างไม่เคยมีมาก่อน ทำให้ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างเต็มที่ อุปกรณ์ที่ใช้ปราบจลาจลก็ไม่สามารถใช้ได้ตามหลักสากล เมื่อใช้อุปกรณ์ไม่ได้ก็ไม่สามารถรักษาสถานที่อย่างทำเนียบรัฐบาลเอาไว้ได้ ตอนนี้กลุ่มผู้ชุมนุมล้ำเส้น แต่ไม่รู้ว่าเส้นแบ่งมันอยู่ตรงไหน ต่อไปคงต้องมาคุยกันว่าตำรวจสามารถทำอะไรได้แค่ไหน เพื่อให้เกิดการยอมรับได้จากทุกฝ่าย"พล.ต.ต.สุรพลกล่าวผู้สื่อข่าวถามว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจอึดอัดใจในการทำงานหรือไม่ พล.ต.ต.สุรพลกล่าวว่า ต้องยอมรับว่าอึดอัดใจ ที่ไม่สามารถทำตามขั้นตอนต่างๆ ได้ และถ้าทำแล้วเกิดการปะทะก็ตกเป็นจำเลยของสังคมซึ่งก็เป็นเรื่องที่หนักใจเช่นเดียวกัน ตำรวจจึงไม่สามารถทำอะไรได้เมื่อกติกาของสังคมไม่ยอมรับ ซึ่งเรื่องนี้จะต้องมีการพูดคุยกับทุกฝ่ายเพื่อหาแนวทางแก้ไขให้ทุกฝ่ายรับได้

พี่"นปช."รับศพน้อง-ฉะพธม.

ก่อนหน้านี้ เวลา 09.30 น. ที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล ถ.สามเสน นางชบา สิงหกลางพล อายุ 70 ปี อยู่บ้านเลขที่ 67 ม.5 ต.ไทรโยค อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี เดินทางมาเพื่อขอรับศพนายณรงค์ศักดิ์ กรอบไธสง อายุ 55 ปี ที่ถูกทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิต โดยนางชบาเปิดเผยว่า น้องชายตนเป็นผู้มีอุดมการณ์ไม่ใช่คนเร่ร่อน น้องชายไม่มีครอบครัว ก่อนเกิดเหตุประมาณ 20 วัน น้องชายมาหาตนที่บ้าน จ.กาญจนบุรี เพื่อมาขอเงินโดยให้เหตุผลว่าจะไปร่วมชุมนุมที่ท้องสนามหลวง เพราะไม่เห็นด้วยกับการกระทำของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ไปปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล และกฎหมายไม่สามารถทำอะไรได้ โดยบอกว่าบ้านเมืองขณะนี้ถูกย่ำยี ซึ่งตนได้บอกไปว่าต้องระมัดระวังตัว และหลังจากคุยกันแล้วตนไม่ได้สนใจอะไรกระทั่งมาทราบอีกครั้งว่าน้องชายได้เดินทางมากรุงเทพฯ โดยนำแหวนที่สวมใส่ไปจำนำกับคนรู้จักและได้เงินมา 200 บาท"ตอนที่น้องชายเสียชีวิตดิฉันยังไม่ทราบ จนกระทั่งมีเพื่อนบ้านที่ดูทีวีมาบอกเห็นบัตรประชาชนของน้องชาย ตอนแรกนั้นยังตั้งตัวไม่ติด ยังไม่สามารถหาเงินเดินทางมารับศพน้องชายได้จึงทำให้มาช้า จริงๆ แล้วที่น้องชายมาร่วมชุมนุมนั้นเพราะมีความเป็นห่วงบ้านเมืองอย่างจริงจัง น้องชายเป็นคนที่มีอุดมการณ์ เหมือนพี่ชาย คือนายเที่ยงธรรม ณ เมืองพุทธ ที่เคยร่วมต่อต้านเผด็จการสมัยจอมพลประภาส และจอมพลถนอม จนกระทั่งถูกจับกุม และได้รับการอภัยโทษเป็นคนแรก ขอยืนยันว่าน้องชายไม่ได้รับค่าจ้างมาและเงินก็ซื้อน้องชายดิฉันไม่ได้ จึงเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้กับน้องชาย ไม่อยากให้เขาตายฟรี อยากให้ทุกฝ่ายได้รับรู้ว่าการเสียชีวิตของน้องชายนั้นใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ อยากให้พันธมิตรฯ หยุดได้แล้ว สำหรับศพของน้องชายนั้นได้ปรึกษากับกลุ่มแกนนำนปช. โดยทางกลุ่ม นปช.ต้องการนำศพของน้องชายไปบำเพ็ญกุศลที่วัดเสมียนนารี กรุงเทพฯ ก่อน เนื่องจากยังมีกลุ่ม นปช.อีกหลายคนที่ต้องการมาเคารพศพ จากนั้นจะนำศพไปฌาปนกิจที่วัดท่าทุ่งนา อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ต่อไป" นางชบากล่าว

คืนเงินบริจาคให้สว.รสนา

ด้านนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข อายุ 46 ปี แกนนำ นปช.พร้อมพวกกว่า 10 คนเดินทางมาเพื่อรับศพนายณรงค์ศักดิ์ เปิดเผยว่า ได้รู้จักกับนายณรงค์ศักดิ์มาตั้งแต่ปี "49 นายณรงค์ศักดิ์เป็นคนมีอุดมการณ์ ซึ่งคนจะรู้จักกันในนามรงค์ โดยเมื่อเหตุการณ์หน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ครั้งสลายการชุมนุม นายณรงค์ศักดิ์ได้เดินทางไปด้วย และได้รับบาดเจ็บจากแก๊สน้ำตา แต่ครั้งนี้ก็ยังเดินทางมาร่วมชุมนุมอีก ก่อนเกิดเหตุยังมีการพูดคุยกัน ซึ่งตนเตือนนายณรงค์ศักดิ์ว่าอายุมากแล้วอยากให้อยู่แนวหลัง โดยให้หนุ่มๆ อยู่ด้านหน้า แต่นายณรงค์ศักดิ์บอกว่าไม่เป็นไรเพราะเคยเป็นตำรวจเก่า จนกระทั่งทราบภายหลังว่าถูกทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิต หลังจากนี้ นปช.จะให้การช่วยเหลือครอบครัวนายณรงค์ศักดิ์ในเรื่องของค่าใช้จ่ายการทำศพ รวมไปถึงเงินชดเชยที่ได้จากการบริจาคอย่างเต็มที่"ตอนนี้ได้ประมาณ 1 แสนบาทแล้ว หลังจากนี้จะนำศพไปบำเพ็ญกุศลที่วัดเสมียนนารีเป็นเวลา 21 วัน โดยในวันพรุ่งนี้จะจัดการรับศพอย่างสมเกียรติ ซึ่งจะมีกองเกียรติยศสวมเสื้อแดง และนำธง นปช.คลุมโรงศพเข้าแถวเดินขบวนไปวัดเสมียนนารี โดยมีแกนนำ นปช.มาร่วมรับศพด้วย ซึ่งตอนนี้อยากให้ญาติผู้ตายได้เข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อขอคำยืนยันว่านายณรงค์ศักดิ์จะไม่ตายฟรี ตอนนี้กำลังปรึกษากับทางญาติผู้ตายว่าจะมีการทำอนุสาวรีย์ให้กับนายณรงค์ศักดิ์ เพื่อเป็นอนุสรณ์การต่อสู้เพื่อความถูกต้องและเสียสละชีวิต และรักษาอธิปไตยของชาติ หากทางญาติเห็นด้วยจะมีการสร้างตรงจุดที่เสียชีวิต บริเวณสะพานมัฆวานฯ โดยขณะนี้ทางกลุ่ม นปช.กำลังสืบหาผู้เห็นเหตุการณ์ในคืนดังกล่าว เพื่อยืนยันจุดที่นายณรงค์ศักดิ์ถูกตีเสียชีวิต อีกทั้งขณะนี้ยังไม่ทราบตัวคนเห็นเหตุการณ์และจุดที่แน่นอน" แกนนำ นปช.กล่าว และว่า ส่วนเงินบริจาคที่นางรสนา โตสิตระกูล สว.นำมามอบให้กับญาติผู้ตายนั้น ตนได้ปรึกษากับทางญาติของผู้ตายแล้วว่าจะนำเงินคืนนางรจนา เพราะเห็นว่านางรจนาปกป้องฝ่ายพันธมิตรฯ

พี่เหยื่อแจ้งจับ 5 แกนนำพธม.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเที่ยงวันเดียวกันพล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือเสธ.แดง ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก ได้เดินทางมาร.พ.วชิระในนามกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 นำเงินจำนวน 20,000 บาท มามอบให้กับญาติผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ที่ยังรักษาตัวอีก 4 รายด้านพ.ต.ท.นพคุณ ปทุมเพ็ชร พงส.(สบ 2) สน.นางเลิ้ง กล่าวว่า หลังเกิดเหตุมีญาติมาแจ้งความทราบว่าเป็นเพียงญาติห่างๆ แต่ถ้ามีญาติโดยตรงจะเข้ามาแจ้งความนั้นสามารถทำได้ทันที แต่คดีดังกล่าวเป็นคดีอาญา ยังไงทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องดำเนินคดีหาตัวคนผิดแม้จะไม่มีเจ้าทุกข์มาแจ้งความก็ตาม ส่วนคดีดังกล่าวขณะนี้ถือเป็นความผิดในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาเวลา 13.30 น. ที่ สน.นางเลิ้ง นางชบา พร้อมด้วยนายวิภูแถลง พัฒนภูไทย แกนนำนปช. และนายเรืองเดช เหลืองบริบูรณ์ ทนายความ เข้าแจ้งความกับพ.ต.ท.นพคุณ ประทุมเพ็ชร เพื่อให้ดำเนินคดีกับ 5 แกนนำพันธมิตรฯ และนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรฯ ในข้อหาก่อเหตุชุลมุนทำให้มีผู้เสียชีวิต โดยได้นำหลักฐานเป็นวีซีดีบันทึกภาพเหตุการณ์ ภาพถ่าย และหนังสือพิมพ์ที่ลงข่าววันเกิดเหตุ มามอบให้พนักงานสอบสวน

ขอให้เป็นศพสุดท้ายเซ่นม็อบ

นางชบากล่าวว่า อยากเรียกร้องผ่านสื่อมวลชนถึงพี่สมัคร อยากให้มาพบ เพราะอยากขอความเป็นธรรมให้กับน้องชาย ขณะเดียวกันอยากให้ช่วยยุติความวุ่นวายที่เกิดขึ้นทั้งหมด ส่วนกลุ่มพันธมิตรฯ หยุดได้แล้ว ขอให้น้องชายตนเป็นเหยื่อความรุนแรงรายสุดท้ายที่ต้องจบชีวิตแบบนี้ หรือหากพันธมิตรฯ ยังไม่จบก็มาเอาชีวิตตนอีกคนก็ได้ด้านพ.ต.ท.นพคุณกล่าวว่า หลังเกิดเหตุพนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานทั้งหมด รวมทั้งสอบปากคำพยานผู้เห็นเหตุการณ์แล้ว แต่เนื่องจากมีคนจำนวนมากและเหตุการณ์ชุลมุน จึงต้องขอเวลาทำงานอีกสักระยะ อย่างไรก็ตามจะนำหลักฐานที่ได้รับมอบจากนางชบามาตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง ทั้งนี้ตำรวจจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

โวยคนกรุงมัวแต่นอนอยู่บ้าน

บ่ายวันเดียวกัน ที่เวทีปราศรัยพันธมิตรฯ นายวีระ สมความคิด ประธานเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น ขึ้นกล่าวว่า ขณะนี้มีนิสิต นักศึกษา จากสถาบันทั่วประเทศมารวมตัวกันเพื่อช่วยพันธมิตรฯขับไล่รัฐบาล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอุเทนถวาย ได้มาสมทบกับกลุ่มพันธมิตรฯเรียบร้อยแล้ว จึงอยากเห็นมหาวิทยาลัยฯปทุมวัน ออกมาออกกำลังกายและมาช่วยดูแลกลุ่มผู้ชุมนุมและช่วยตีกลุ่ม นปช. ตนอยากเห็นแนวร่วมอาชีวะเพื่อประชาธิปไตย ออกมาแสดงจุดยืนเพื่อขับไล่รัฐบาล นายวีระ กล่าวว่าแม้แต่ 6 เยาวชนบ้านกรุณายังแหกคุกออกมาร่วมกับเรา เชื่อว่าอีกไม่นานคงมีนักโทษจะแหกคุกมาช่วยกู้ชาติเหมือนกัน ก็ขอร้องไม่ต้องออกมาให้เป็นหน้าที่ของประชาชนและนิสิต นักศึกษา โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯอย่ามัวแต่นอนอยู่บ้าน อย่าปล่อยให้เป็นภาระของนักเรียน นักศึกษา ในการกู้ชาติ

เมินประชามติ-ย้ำหมักต้องออก

เวลา 17.30 น. นายสมศักดิ์ โกศัยสุข ให้สัมภาษณ์กรณีรัฐบาลจะทำประชามติ ว่า การทำประชามติโดยถามประชาชนว่ารัฐบาลจะอยู่หรือไม่อยู่ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญปี 50 รัฐธรรมนูญกำหนดให้ทำในเรื่องที่เป็นนโยบาย อาทิ การขายรัฐวิสาหกิจหรือการรับไม่รับไม่รัฐธรรมนูญ เชื่อว่าเป็นแผนของรัฐบาลที่ใช้เงินภาษีประชาชนหลายพันล้าน พยายามดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอดโดยอาศัยความได้เปรียบจากการคุมกลไกรัฐและการซื้อเสียงบังคับให้ประชาชนลงมติสร้างประโยชน์ให้ฝ่ายตัวเอง พันธมิตรฯจึงไม่สามารถยอมรับได้ และถึงจะทำก็ไม่มีผลเพราะรัฐบาลนายสมัคร ได้กระทำผิดรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดมาหลายครั้ง ไม่ควรจะดื้อด้านอยู่ต่อไปส่วนกรณีนายสมัครเดินสายออกโทรทัศน์ วิทยุ โจมตีพันธมิตรฯ นายสมศักดิ์กล่าวว่า ถือเป็นการต่อสู้ดิ้นรนของนายสมัคร แต่การทำอย่างนี้น่าจะเป็นประโยชน์ที่จะได้เห็นธาตุแท้ว่านายสมัคร เป็นคนบิดเบือนอย่างไร ส่วนพันธมิตรฯจะใช้สื่อเท่าที่มีในการสื่อสารกับประชาชน พันธมิตรฯยืนยันว่าการประกาศภาวะฉุกเฉินถือว่าไม่ถูกต้อง เป็นการช่วยให้พ.ต.ท.ทักษิณ อ้างในการขอลี้ภัยการเมืองด้านนายพิภพ ธงไชย กล่าวว่า ใครจะทำประชามติตนไม่สนใจ แต่เป้าหมายของพันธมิตรฯยังเหมือนเดิมคือนายสมัคร และรัฐบาลต้องลาออกเท่านั้น

นปช.เลิกชุมนุม-รื้อเวทีแล้ว

เย็นวันเดียวกัน ที่หน้าศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ กลุ่มแกนนำนปช.ที่เคยปักหลักชุมนุมปราศรัยโจมตี 9 แกนนำพันธมิตรฯและพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา ปรากฏว่ากลุ่มแกนนำนปช.ภายในจังหวัดสมุทรปราการได้มีประกาศยุติบทบาทการเปิดเวทีปราศรัยตั้งแต่วันนี้ พร้อมสั่งให้เจ้าหน้าที่ช่วยกันรื้อป้ายและเก็บเวทีนายพรชัย ก่อวัฒนะมงคล แกนนำนปก.สมุทรปราการ กล่าวว่า กลุ่มแกนนำนปก.และนปช.ได้มีการประชุมร่วมกันเมื่อช่วงบ่ายถึงบทบาทท่าทีต่อการชุมนุม โดยที่ประชุมได้มีติยุติบทบาทการปราศรัยตั้งแต่บัดเป็นต้นไป โดยปล่อยให้สถานการณ์บ้านเมืองที่เป็นอยู่เป็นหน้าที่รัฐบาลได้ปฏิบัติหน้าที่ในการทำงานต่อไปด้วยความสะดวก ภายใต้กรอบและกติกาบ้านเมืองเพื่อให้เกิดความสงบ พร้อมขอให้กลุ่มพันธมิตรฯที่ร่วมชุมนุมกันอยู่ภายในทำเนียบรัฐบาล ได้มีการยุติบทบาทการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลเหมือนกับกลุ่มนปช.อีกด้วย และหากกลุ่มพันธมิตรฯยังคงดื้อด้านชุมนุมต่อโดยไม่ยุติ แกนนำ นปช.ก็อาจมีการประชุมร่วมเพื่อร่วมชุมนุมเวทีปราศรัยต่อไปได้ในอนาคต และพร้อมด้วยที่จะกลับมาอีกถ้าฝ่ายพันธมิตรฯไม่ยอมลดบทบาทลง

"กลุ่มสันติสีขาว"ต้านรุนแรง

วันเดียวกัน ที่อาคารเรียนรวม 5 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กลุ่มสันติสีขาว นำโดยนายรังสรรค์ ประทุมวรรณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายทศพร คิวประสพศักดิ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะแกนนำกลุ่มสันติสีขาว และสมาชิก ร่วมอ่านแถลงการณ์จุดยืนและข้อเสนอทางออกวิกฤตการณ์ทางการเมืองในสังคมไทย นายทศพร คิวประสพศักดิ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ใน ฐานะแกนนำกลุ่มสันติสีขาว เปิดเผยว่า กลุ่มสันติสีขาวไม่เห็นด้วยและคัดค้านการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบจากทุกฝ่าย ทั้งจากเจ้าหน้าที่รัฐต่อกลุ่มผู้ชุมนุมหรือระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมด้วยกันเอง โดยวิธีการ แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลานี้ต้องเป็นปราศจากความรุนแรงแต่ต้องใช้สันติสีขาวหรือสันติวิธีที่ปราศจากเลือดในขณะเดียวกันเชื่อว่าการต่อต้านความรุนแรงเพียงอย่างเดียวไม่ใช่ทางออกที่เหมาะสมต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ทุกภาคส่วนต้องออกมาร่วมกันหาทางออกโดยไม่ปล่อยให้ฝ่ายที่มีความขัดแย้งชี้นำทิศทางหรือทางออกของปัญหาแต่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งทางกลุ่มสันติสีขาวขอเสนอตัวเป็นทาง เลือกที่เป็นรูปธรรมที่สามารถปฏิบัติได้จริง

ใช้การเจรจา-หยุดเคลื่อนไหว

สำหรับแถลงการณ์กลุ่มสันติวิธีสีขาวนั้นเป็นการแสดงจุดยืนและข้อเสนอทางออก วิกฤตการณ์ทางการเมืองในสังคมไทย โดยขอเสนอทางออกของความขัดแย้งด้วยวิธีการที่เป็นรูปธรรม คือ 1.ขอเสนอเป็นตัวกลางในการเจรจา โดยมีทหารเป็นผู้ช่วย เพื่อจัดประชุมระหว่างฝ่ายต่างๆ ที่มีความขัดแย้งระหว่างกัน 2.ในระหว่างที่มีการเจรจาให้ทุกฝ่ายหยุดการเคลื่อนไหวทุกรูปแบบ 3.ให้ฝ่ายที่มีความขัดแย้งระหว่างกันจัดทำข้อเสนอ ความต้องการของตนเองเพื่อนำไปเจรจา ต่อรอง และหาทางออกให้แก่ประเทศ และสุดท้ายทุกฝ่ายต้องยอมรับกติการ่วมกัน คือ ต้องทำตามข้อตกลงและไม่ออกมาทำการเคลื่อนไหวล้มล้างฝ่ายตรงข้ามเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 4 ปี (1 สมัยรัฐบาล) แต่สามารถจัดช่องทางในการนำเสนอความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้ โดยไม่สร้างสภาวการณ์ที่ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์เหมือนในปัจจุบันนอกจากนี้ กลุ่มสันติสีขาว อาสาทำหน้าที่เป็นพื้นที่สาธารณะให้นักศึกษาหรือคนในสังคมที่อยาก แสดงออกความคิดเห็นแต่ไม่มีพื้นที่ ผ่านทาง whitepeace@rangsan.net หรือตามกล่องรับฟังความ คิดเห็นที่กลุ่มสันติสีขาวจะได้ออกตระเวนภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

"นิด้า-พีเน็ต"ค้านทำประชามติ

วันเดียวกัน นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวถึงกรณีครม.นัดพิเศษเห็นด้วยทำประชามติ ว่า โดยหลักการของประชามติแล้วนั้นไม่ได้ใช้เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง การทำประชามติครั้งนี้มีจุดอ่อนเนื่องจากพรรคพลังประชาชนที่เคยไม่ยอมรับการทำประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2550 การทำครั้งนี้พันธมิตรฯก็อาจไม่ยอมรับ เพราะเห็นว่าอยู่ภายใต้กลไกของรัฐ จึงเชื่อว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง เป็นเพียงยืดเวลา เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาล และหวั่นความขัดแย้งอาจรุนแรงนายสมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนเพื่อการเลือกตั้ง(พีเน็ต) กล่าวถึงการจัดทำประชามติ ว่า การจัดทำประชามติโดยถามประชาชนว่ารัฐบาลควรจะอยู่หรือไม่ถือว่าไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ ม.165 หลายประการ เช่นรัฐธรรมนูญให้ทำประชามติในกรณีที่รัฐบาลดำเนินการที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน ไม่ให้ทำในเรื่องที่เกี่ยวกับตัวบุคคลหรือคณะบุคคล รวมทั้งรัฐธรรมนูญยังกำหนดว่าต้องให้ความรู้กับประชาชนอย่างพอเพียง การให้เวลา 30 วัน จึงหมิ่นเหม่ต่อการผิดรัฐธรรมนูญ ในต่างประเทศต้องใช้เวลาเป็นปีสำหรับการให้ข้อมูลประชาชน นอกจากนี้ การยังไม่มีหลักประกันว่าเมื่อได้ผลประชามติแล้วทุกฝ่ายจะยอมรับ เป็นการใช้งบประมาณมหาศาล 2 พันล้านโดยเปล่าประโยชน์ หากรัฐบาลต้องการได้ข้อมูลว่าประชาชนยังสนับสนุนรัฐบาลอยู่หรือไม่ ก็ควรจะยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ เพราะในที่สุดจะได้คำตอบเดียว หากประชาชนเห็นด้วยกับรัฐบาลเขาก็จะเลือกกลับเข้ามาแต่ถ้าไม่เห็นด้วยเขาก็ไม่เลือก

แพทย์ชนบทนัดสวมเสื้อดำ

น.พ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า วันที่ 6 ก.ย. แพทย์และพยาบาลจากโรงพยาบาลชุมชนกว่า 400 แห่ง จากทุกภาคทั้งภาคกลาง เหนือ ใต้ อีสาน ซึ่งไม่ได้อยู่เวรปฏิบัติหน้าที่ในโรงพยาบาล จะนัดรวมตัวเพื่อมาร่วมชุมนุมกันที่ทำเนียบรัฐบาล คาดว่าจะมีผู้มาเข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 300-400 คน บางส่วนยังตั้งใจมาเป็นแพทย์พยาบาลอาสาดูแลผู้ที่เจ็บป่วยในการชุมนุมด้วย ขอเรียกร้องให้โรงพยาบาลชุมชนทุกแห่งทั่วประเทศประมาณ 730 แห่ง ขึ้นป้ายแสดงความเห็นในระบอบประชาธิปไตย ประณามผู้ใช้ความรุนแรง ไว้ทุกข์แก่ผู้เสียชีวิตและให้รัฐบาลรับผิดชอบโดยการลาออก ทั้งนี้ในการแสดงวิธีอารยะขัดขืนที่เป็นรูปธรรม แพทย์ พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ จะขึ้นป้ายคัดค้านใน 3 ประเด็น คือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน การใช้ความรุนแรง และการทำประชาพิจารณ์ ล่าสุดตกลงร่วมกันว่าเจ้าหน้าที่แพทย์และพยาบาลจะสวมเสื้อดำหรือสวมปลอกแขนสีดำขณะปฏิบัติหน้าที่ด้วย

ศาลยกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว

เย็นวันเดียวกัน ที่ห้องพิจารณาคดี 403 ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก ศาลแพ่งอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เรื่องคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว คดีหมายเลขดำที่ 5213/2551 สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โดยนายลอยเลื่อน บุนนาค รองเลขาธิการสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง 5 แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรฯ เป็นจำเลยที่ 1-6 เรื่องละเมิด และขับไล่ออกจากทำเนียบรัฐบาลคดีนี้พันธมิตรฯจำเลยทั้งหกยื่นอุทธรณ์ขอให้ยกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวที่ศาลแพ่งมีคำสั่งเมื่อวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา ให้จำเลยทั้งหกกับพวกผู้ชุมนุม ออกจากทำเนียบรัฐบาล และรื้อเวที เวทีปราศรัย รวมทั้งสิ่งกีดขวางออกจากทำเนียบ และให้จำเลยทั้งหกเปิดการจราจรบน ถ.พิษณุโลก และถ.ราชดำเนิน รวมทั้งขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งทุเลาการบังคับคดีตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลแพ่งดังกล่าวโดยศาลอุทธรณ์ประชุมหารือกันแล้ว ศาลมีคำพิพากษาให้ยกคำสั่งคุ้มครองของศาลชั้นต้นที่อนุญาตตามคำร้องขอของโจทก์ เนื่องจากขณะนี้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตกรุงเทพมหานคร ที่ออกตามข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 แล้ว ซึ่งมาตราดังกล่าวมีผลถึงวิธีการคุ้มครองชั่วคราวที่ศาลชั้นต้นใช้คุ้มครองโจทก์ก่อนมีคำพิพากษาอยู่แล้ว กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรและเพียงพอที่จะนำวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษามาใช้บังคับแก่คดีนี้ และไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยคำร้องของจำเลยที่อุทธรณ์ขอทุเลาการบังคับคดีอีกต่อไป ซึ่งผลคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์เป็นผลให้คำสั่งคุ้มครองชั่วคราว และคำสั่งงดการบังคับคดีของศาลชั้นต้นสิ้นผลไปนับตั้งแต่วันนี้ โดยศาลแพ่งมีคำสั่งนัดฟังคำพิพากษา ที่สำนักเลขาธิการนายกฯยื่นฟ้อง 6 พันธมิตรฯ ในวันที่ 17 ก.ย.นี้ เวลา 09.00 น.ด้วย

ใช้16ล.ประกัน82นักรบศรีวิชัย

นายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร ในฐานะโฆษกอัยการสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผย ถึงกรณีที่มีรายชื่อของนายสมเกียรติ รัตนพันธ์ รองอัยการจังหวัดนครสวรรค์ ตรงกับผู้ต้องหา 1 ใน 82 คนกลุ่มนักรบศรีวิชัยที่ถูกจับกุมข้อหาบุกรุกเข้าไปในอาคารเอ็นบีที ว่า น่าจะเป็นเรื่องเข้าใจผิดกัน ได้สอบถามข้อเท็จจริงไปยังสำนักงานอัยการจังหวัดนครสวรรค์แล้วพบว่านายสมเกียรติยังคงเดินทางมาทำงานตามปกติ น่าจะเป็นบุคคลที่มีชื่อและนามสกุลตรงกันผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบไปยังฝ่ายงานประกันตัวของศาลอาญา รับทราบจากเจ้าหน้าที่ว่ายังไม่มีผู้ต้องหาคนใด ในกลุ่ม 82 คนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวแต่อย่างใดด้านนายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ กล่าวถึงการยื่นประกันตัวผู้ต้องหากลุ่มนักรบศรีวิชัยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาและร่างคำร้อง ซึ่งการยื่นประกันต้องใช้หลักทรัพย์คนละไม่ต่ำกว่า 200,000 บาท รวมเป็นเงินกว่า 16 ล้านบาทเศษ

ม.นเรศวรให้ยุติความรุนแรง

จ.พิษณุโลก นายธีรพล ดอนอุบล ประธานสภานิสิต นายอุดมศักดิ์ จิรกาลกุลเกษม นายกองค์การนิสิต และนายวรรณชเยษฐ์ กาวิละนันท์ นายกสโมสรนิสิตบัณฑิตศึกษามหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1/2551 เรียกร้องให้ยุติการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา เรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่รวมตัวกันชุมนุมอย่างสันติ และยุติการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา อีกทั้งหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการปะทะกันระหว่างฝ่ายที่แตกต่างทางความคิดนายจรัล ฟุ้งเกียรติคุณ รักษาการประธานสภาข้าราชการและลูกจ้างที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย และประธานสภาข้าราชการและลูกจ้างมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า เป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนตัว ไม่เป็นฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด โดยมีข้อเรียกร้อง 4 ข้อ คือ 1.ขอให้ทุกฝ่ายหยุดการใช้มาตรการที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ และความเดือดร้อนของประชาชน 2.ขอให้ทุกฝ่ายใช้สันติแก้ปัญหาชาติ หยุดใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ 3.สนับสนุนความเห็นของทปอ. และ 4.ประชาชนและสื่อต้องแสดงความเป็นกลางไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ระดมน.ร.-น.ศ.ชุมนุมใหญ่

เวลา 18.30 น. บรรดากลุ่มนักศึกษาจากสถาบันต่างๆ พากันขึ้นเวที นายวสันต์ วานิชย์ ผู้ประสานงานกลุ่มนิสิตนักศึกษาเครือข่ายเยาวชนกู้ชาติหรือ Young PAD Group ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนนิสิตนักศึกษาจาก 21 มหาวิทยาลัยและ 2 โรงเรียนมัธยม ประกาศบนเวทีเรียกร้องให้นักศึกษาทั่วประเทศออกมาร่วมชุมนุมใหญ่ในวันเสาร์ที่ 6 ก.ย. เวลา 18.00 น. ที่บริเวณสะพานมัฆวานฯ เพื่อกำหนดทิศทางประชาธิปไตยของประเทศร่วมกัน นอกจากนี้ยังมีตัวแทนนักศึกษาช่างก่อสร้างจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตอุเทนถวาย ขึ้นเวทีประกาศเข้าร่วมชุมนุมโดยประกาศว่า จะดูแลให้ผู้ชุมนุมของกลุ่มพธม.ได้รับความปลอดภัยอย่างเต็มที่เวลา 19.25 น. ที่ด้านหลังเวทีพันธมิตร บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตร แถลงว่า กรณีที่นายสมัครแสดงท่าทีไม่ลาออก ไม่ยุบสภานั้น ไม่ได้เกินความคาดหมาย และการแสดงท่าทีครั้งนี้ถือเป็นวาระสุดท้ายทางการเมืองของนายสมัครที่ดื้อ และไม่ใช่การรักษาระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นการรักษาตัวเองเพื่อให้อยู่ในอำนาจ เสมือนจับประเทศเป็นตัวประกันเท่านั้น

แฉโกงผลประชามติแน่นอน

นายสุริยะใสกล่าวว่า การดื้อด้านดันทุรังของนายสมัคร ครั้งนี้อาจเกิดผลกระทบ 3 ด้านที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองคือ 1.ความแตกแยกจะขยายตัวลุกลามไปยังหัวเมืองต่างจังหวัด กลายเป็นการจลาจลย่อยๆ สุดท้ายอาจเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นมาได้ 2.ทำให้เสถียรภาพทางการเมืองทรุดลงไปเรื่อยๆ สุดท้ายจะเกิดสภาวะความล้มละลายของภาครัฐที่ไม่สามารถปกครองได้หรือเรียกว่าการกบฏ ซึ่งการกบฏนี้จะเป็นแฟชั่น กลายเป็นค่านิยม เป็นวัฒนธรรมที่พร้อมต่อต้านเมื่อเกิดความไม่พอใจขึ้น 3.การคุมเชิงกันอยู่ทั้งฝ่ายตำรวจ ทหารและพันธมิตร อาจทำให้เกิดการรัฐประหารขึ้นได้นายสุริยะใสกล่าวว่า การที่นายสมัคร และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้พันธมิตรไปทบทวนระบบการเมืองใหม่ โดยเฉพาะระบบ 70-30 นั้น เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนของบุคคลทั้ง 2 แต่การเมืองใหม่ของพันธมิตรคือต้องการให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างหลากหลาย ไม่ใช่แค่การใช้สิทธิเลือกตั้ง ทั้งนี้ หากนายสมัครไม่ลาออก การเมืองใหม่ก็ไม่มีสิทธิ์เกิด และการทำประชามติของรัฐบาลคงไม่สามารถทำได้ อาจขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 165(2) ระบุการออกประชามติจะทำได้ต่อเมื่อทำเกี่ยวกับตัวบุคคลเท่านั้น และไม่มีประเทศไหนในโลกทำกัน หากทำประชามติ ปัญหาก็ยังไม่สิ้นสุดเพราะรัฐบาลจะใช้หัวคะแนนโกงผลประชามติ จะเกิดความแตกแยกตามมาในวงกว้าง ทางออกง่ายที่สุดคือนายสมัคร ประกาศลาออกและยุบสภาเท่านั้น


'แป้กซ้ำ!' สองนายกฯ'พ.ร.ก.ฉุกเฉิน'ใช้ต่างเหตุ...ไม่ต่างผล


ตามมาตรา 4 แห่ง “พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548” พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ที่ผู้คนทั่วไปเรียกง่าย ๆ สั้น ๆ ว่า “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” นั้น ระบุไว้ว่า..... “สถานการณ์ฉุกเฉิน” หมายความว่า สถานการณ์อันกระทบหรืออาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรืออาจทำให้ประเทศหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของประเทศตกอยู่ในภาวะคับขัน หรือมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา การรบหรือการสงคราม ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เอกราชและบูรณภาพแห่งอาณาเขต ผลประโยชน์ของชาติ การปฏิบัติตามกฎหมาย ความปลอดภัยของประชาชน การดำรงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ความสงบเรียบร้อยหรือประโยชน์ส่วนรวม หรือการป้องปัดหรือแก้ไขเยียวยาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะอันมีมาอย่างฉุกเฉินและร้ายแรง เมื่อ 2 ก.ย. 2551 “นายกฯสมัคร” ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คล้ายกับที่ “นายกฯทักษิณ” เคยประกาศเมื่อ 19 ก.ย. 2549 ย้อนเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 ในวันที่คณะทหารซึ่งนำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.ขณะนั้น ทำรัฐประหาร นายกรัฐมนตรีขณะนั้น คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ได้ประกาศข้ามทวีปมาได้ “ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่กรุงเทพฯ” ผ่านทางทีวีช่อง 9 ด้วยเสียงของตนเอง เนื้อหาตามประกาศคือ... “...โดยที่ปรากฏว่า มีกลุ่มบุคคลจะก่อการปฏิวัติรัฐประหาร มีการสั่งการเคลื่อนย้ายกำลังเพื่อโค่นล้มยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ซึ่งจะมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความมั่นคง ความปลอดภัยในชีวิต ของรัฐ และของบุคคล รวมทั้งกระทบร้ายแรงต่อการใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และจำเป็นต้องเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ยุติได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงอาศัยอำนาจตามการบริหารราชการแผ่นดิน ในมาตรา 5 มาตรา 6 และมาตรา 11 วรรค 1 แห่ง พ.ร.ก.ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 อันเป็นกฎหมายที่มีบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งในมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 31 มาตรา 35 มาตรา 36 มาตรา 37 มาตรา 44 มาตรา 48 มาตรา 50 และมาตรา 51 ของรัฐธรรมนูญบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยกฎหมาย โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จึงได้ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป...” ครั้งนั้น...มีการออกคำสั่งตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินให้ พล.อ.สนธิเข้าปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี และให้รายงานตัวต่อ พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รักษาการนายกรัฐมนตรีขณะนั้น และให้ พล.อ.เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ ผบ.สส.ขณะนั้น เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ “ผล” คือ...ประกาศ “แป้ก !!” ไม่มีการปฏิบัติตาม รัฐบาลทักษิณล้มไป...หลังสิ้นเสียงประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้วถึงใครไม่อยากเชื่อก็ต้องเชื่อ....อีก 17 วันครบ 2 ปี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฉบับเดิมก็ถูกประกาศใช้อีก ในรัฐบาลสมัคร คือเมื่อ 2 ก.ย. 2551 ซึ่งครั้งนี้ต่างกันตรง “เหตุ” มิใช่ กลุ่มทหาร แต่เป็น มวลชน กล่าวคือ..... “...โดยที่ปรากฏว่า ได้มีกลุ่มบุคคลดำเนินกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย และนำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศ ทั้งจะไม่ส่งผลดีต่อการบริหารราชการแผ่นดิน และความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ อันเป็นการกระทำที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน และเป็น ภัยต่อความมั่นคงของรัฐ รวมทั้งส่งผลกระทบต่อกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย และกระทบต่อการใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนผู้บริสุทธิ์ จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ยุติโดยเร็ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่ง พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 36 มาตรา 38 มาตรา 41 มาตรา 43 มาตรา 45 และมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้ โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย นายกรัฐมนตรีจึงให้ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป...” พลันที่มีการประกาศ...บางฝ่ายก็หวังว่าม็อบจะเกลี้ยงทันใจ แต่เอาเข้าจริงก็ไม่...ในทำเนียบรัฐบาลก็ยังเย้ว ๆ กันต่อ !! ทั้งนี้ มาถึงวันนี้สถานการณ์เป็นเช่นไรแล้ว...ก็ดังที่ทราบ ๆ อย่างไรก็ตาม กับวันแรก ๆ ของการ “ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในกรุงเทพฯ” ในมุมของเสถียรภาพรัฐบาลสมัคร-นายกฯสมัคร ก็ต้องถือว่า “แป้ก !!” คล้ายกับที่รัฐบาลทักษิณ-นายกฯทักษิณเคยประสบ ซึ่งมาถึงวันนี้ก็อาจได้รู้-หรือเกือบรู้แล้ว..... 2 นายกฯ “ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน...แป้ก” เหมือนกัน แล้วเหมือนต่อเนื่อง “เหมือนรัฐบาลทักษิณ” หรือไม่ ??.


ที่มา:http://www.dailynews.co.th/web/html

หวั่นประเทศแบ่งขั้วชัด ยิ่งทำประชามติยิ่งแตกแยก

นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง กล่าววันนี้ (5 ก.ย.) ถึงระเบียบวาระการประชุม วุฒิสภา ว่า มีเรื่องด่วนร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.... ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบ และผ่านวาระของสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว ขณะนี้ส่งมาที่ วุฒิสภา กฎหมายฉบับนี้ต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 90 วัน ประมาณวันที่ 29 พฤศจิกายน ซึ่งปิดสมัยประชุมไปแล้ว ฉะนั้นวันนี้จะมีมติ มีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญ 29 คน เป็นส.ว.24คน และเป็นผู้เชี่ยวชาญไม่เกิน 5 คน มาจาก คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แต่คงไม่สามารถผ่านได้ 3 วาระรวด เนื่องจากเป็นเรื่องละเอียด มีผลได้ผลเสีย
นายนิคม กล่าวว่า หากกฎหมายฉบับนี้ผ่าน นำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา ถึงจะมีผลบังคับใช้ แล้วส่งคืนให้กกต.ดำเนินการ ใช้เวลาอย่างช้าที่สุด 2 เดือน
เมื่อถามถึงแนวคิดการทำประชามติเป็นทางออกแก้ไขปัญหาให้บ้านเมือง รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง กล่าวว่า ตนไม่มั่นใจว่าจะได้ผล เพราะการไปถามประชาชนเอาไม่เอา แล้วใช้เงิน 1,800 ล้าน กลับการที่คืนอำนาจให้ประชาชน ก็เหมือนกัน หากลงประชามติไปแล้ว คนที่แพ้ก็ไม่ยอม จะเกิดความแตกแยกมากยิ่งขึ้น นอกจากแบ่งเป็นภาคแล้วยังแบ่งเป็นจังหวัดอีก
“การลงประชามติควรเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อประชาชน การทำครั้งนี้แบ่งขั้วชัดเจน จากที่สีเทาๆ กลายเป็นขาวดำ ไม่สมานฉันท์ เป็นการสร้างความแตกแยก” นายนิคม กล่าว และว่า เมื่อเกิดปัญหาความขัดแย้งของคนในชาติ วิธีการแบบนี้ต้องมานั่งทบทวนใหม่ ต้องใช้หลัก ใช้เหตุและผลมากขึ้น

ที่มา:http://www.thairath.co.th/onlineheadnews.html?id=103105

ตร.บอก"เสียใจ"เกิดเหตุยิง2นศ.รามฯ เชื่อเหตุจากการเมือง นศ.แนวร่วมพันธมิตรนัดชุมนุมเคลื่อนขบวนบีบสตช.

นศ.แนวร่วมพธม.จะเคลื่อนขบวนบีบตร. เร่งหา"มือปืน" หลังคนร้ายซุ่มยิง 2 นศ.ราม ขณะเดินเท้าบุกบ้าน"สมัคร" ตร.บอก"เสียใจ" เชื่อเหตุจากประเด็นทางการเมือง ด้านแกนนำนศ.รามฯ บีบหาตัวคนร้ายใน 2 สัปดาห์
ตร.เชื่อเหตุยิงนศ.รามฯ มาจากประเด็นทางการเมือง

พ.ต.อ.สมศักดิ์ บุญแสง ผกก.สน.ลาดพร้าว กล่าวเมื่อวันที่ 5 ส.ค.ถึงถึงความคืบหน้าคดีนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงถูกคนร้ายยิงได้รับบาดเจ็บ 2 ราย บริเวณการเคหะคลองจั่น ระหว่างเคลื่อนขบวนไปไปชุมนุมหน้าบ้านนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ว่า ตำรวจกำลังสืบสวนและรวบรวมพยานหลักฐาน ซึ่งตนจะไปตรวจสอบจุดที่เกิดเหตุอีกครั้ง

พ.ต.อ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนกรณีที่พยานระบุว่าเห็นหน้าคนร้ายนั้น จากการสอบสวนพบว่า พยานมองเห็นหน้าคนร้ายผ่านกระจกหมวกกันน็อก ทำให้มอบเห็นได้ไม่ชัดเจน ส่วนรถจักรยานยนต์ของคนร้ายนั้น มีกระดาษปิดหมายเลขทะเบียนไว้ ทำให้ตำรวจสืบสวนจากพยานได้ลำบาก ดังนั้น จึงต้องสืบหาพยานแวดล้อมที่ใกล้จุดเกิดเหตุแทน

"คาดว่าประเด็นการยิงปืนใส่กลุ่มนักศึกษษา น่าจะมีคนบางกลุ่มเกิดความไม่พอใจ ที่กลุ่มนักศึกษาออกมาเรียกร้องทางการเมือง โดยการเดินประท้วง และหาแนวร่วมทางการเมืองเพิ่มขึ้น จึงได้วางแผนมาซุ่มยิงดังกล่าว" พ.ต.อ.สมศักดิ์ กล่าว

นศ.แนวร่วมพธม.จะเคลื่อนขบวนบีบตร. เร่งหา"มือปืน"

ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 5 ก.ย.ว่า จากกรณีที่นักศึกษามหาวิทยาลับรามคำแพง 2 คน ถูกคนร้ายลอบยิงได้รับบาดเจ็บ ระหว่างรวมกลุ่มเคลื่อนขบวนไปบ้านของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เพื่อกดดันให้นายสมัครลาออกนั้น เวลา 14.00 น. กลุ่มนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยได้นัดตัวรวมกันที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน เพื่อเคลื่อนขบวนไปสำนักงานตำรวจแห่งขาติ โดยมีจุดประสงค์เพื่อกดดันให้ตำรวจเร่งหาตัวคนร้ายมาดำเนินคดี

ตร.บอก"เสียใจ" นศ.รามฯ บีบหาตัวคนร้ายใน2สัปดาห์

พ.ต.อ.สมศักดิ์ บุญแสง ผกก.สน.ลาดพร้าว กล่าวเมื่อเช้าวันที่ 5 ก.ย.ถึงเหตุการณที่นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงถูกคนร้ายยิงใส่ ระหว่างเคลื่อนขบวนไปประท้วงนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ที่บ้าน ย่านถนนวมินทร์ ว่า ตำรวจเสียใจกับเหตุการณ์นี้ที่เกิดขึ้น และจะติดตามหาตัวคนร้ายมาดำเนินคดีให้เร็วที่สุด ส่วนกรณีที่นักศึกษายกเลิกการเดินขบวนนั้น ตำรวจได้ประสานไปยังรถร่วมขสมก.จำนวน 2 คัน เพื่อให้นักศึกษาโดยสารกลับมหาวิทยาลัยรามคำแหง

ด้านแกนนำกลุ่มนักศึกษา กล่าวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า ต้องหาตัวคนร้ายให้ได้ภายใน 2 สัปดาห์ หากไม่สามารถทำได้ นักศึกษาจะกลับมาชุมนุมอีกที่ สน.ลาดพร้าว นอกจากนี้ วันที่ 6 ส.ค.นี้ เวลา 14.00 น. จะต้องมีการหารือเรื่องนี้ที่ห้องประชุมพ่อขุนรามคำแหง เพื่อร่วมกำหนดจุดยืนและแนวทางการดำเนินการต่อไป

คนร้ายซุ่มยิง 2 นศ.ราม ขณะเดินเท้าบุกบ้าน"สมัคร"

พล.ต.ต.วิมล เปาอินทร์ ผบก.นครบาล 4 เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจาก สน.ลาดพร้าวว่า กลุ่มนักศึกษารามคำแห่งกว่า 100 คน รวมกันที่หน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหงเมื่อช่วงหัวค่ำ ก่อนเดินเท้าไปที่หมู่บ้านโอฬาร ซอยนวมินทร์ 81 ซึ่งเป็นบ้านพักของนายสมัคร เพื่อประท้วงและเรียกร้องให้นายสมัครลาออก แต่ปรากฏว่า เมื่อเวลาประมาณ 20.13 น. ระหว่างทางที่บริเวณซอยนวมินทร์ 17 ซึ่งเป็นที่มืด ปรากฏว่า มีคนร้ายขับขี่รถจักรยานยนต์ ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนใช้อาวุธปืนยิงเข้าไปยังกลุ่มนักศึกษา และมีนักศึกษาได้รับบาดเจ็บ 2 คน คือนายอภิชาติ นาคฤิทธิ์ อายุ 22 ปี ถูกยิงที่ข้อศอกซ้ายฝังใน และนายอนุศักดิ์ เศียรอรุณ อายุ 22 ปี ถูกยิงที่ต้นขาขวาฝังใน ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลศรีสยาม ด้าน พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ได้รับทราบรายงานดังกล่าวแล้ว และอยู่ระหว่างเดินทางไปตรวจสอบจุดเกิดเหตุ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นักศึกษาที่อยู่ในเหตุการณ์ รายหนึ่ง เปิดเผยว่า ขณะที่นักศึกษากลุ่มนี้ เดินเท้ามาถึง บริเวณใกล้เคียงกับแฟลตคลองจั่นเล็กน้อย ได้มีจักรยานยนต์ ยี่ห้อ ยามาฮ่า มิโอ สีดำ ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน เข้ามาชะลอใกล้กลุ่มนักศึกษา ก่อนที่คนนั่งซ้อนท้าย จะใช้อาวุธปืน ไม่ทราบชนิด ยิงเข้ามาในกลุ่มนักศึกษาจำนวน 3 นัด ส่งผลให้นักศึกษาได้รับบาดเจ็บ 2 ราย จนล้มทรุดลงกับพื้น ซึ่งขณะนี้มีพลเมืองดีพบเห็นเหตุการณ์ได้นำขึ้นรถกระบะ นำส่งโรงพยาบลใกล้เคียงทำการรักษาเป็นการด่วนแล้ว
ทั้งนี้ นักศึกษาที่เห็นเหตุการณ์ได้เดินทางไปให้ปากคำกับเจ้าหน้าที่ สน.ลาดพร้าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พนักงานสอบสวน สน.ลาดพร้าว ได้สอบปากคำกลุ่มนักศึกษาถึงรูปพรรณของคนร้าย แต่ส่วนใหญ่ให้การว่า สถานที่เกิดเหตุเป็นที่มืดจึงไม่มีใครจำรูปพรรณของคนร้ายได้ จำได้เพียงคนร้ายทั้งสองสวมเสื้อแจ็คเก็ต แต่ไม่เห็นหน้าคนร้ายที่ยิงใส่กลุ่มนักศึกษา
ขณะที่พนักงานสอบสวนกำลังสอบปากคำผู้ที่เห็นเหตุการณ์ กลุ่มนักศึกษายังคงปักหลักปราศัยบริเวณฯด้านหน้าโรงพัก โดยกล่าวโจมตีการกระทำดังกล่าว พร้อมทั้งขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวคนร้ายมาดำเนินคดีให้ได้ ต่อมา พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ รอง ผบ.ตร.ได้เดินทางมาที่ สน.ลาดพร้าว โดยขอร้องให้กลุ่มนักศึกษาเลิกการปราศัยเพราะขณะนี้อยู่ในช่วงรัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉิน ซึ่งนักศึกษาทั้งหมดก็ยินยอมรับฟังและปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่

ด้านพล.ต.อ จงรัก จุฑานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เปิดเผย ความคืบหน้ากรณี นักศึกษารามคำแหง ถูกคนร้ายขับรถ จยย. ยิงใส่ ได้รับบาดเจ็บ 2 รายว่า จากการสอบสวนพบว่าคนร้ายใช้อาวุธปืนขนาด .22 ซึ่งนักศึกษาที่ได้รับบาดเจ็บมี2คน โดยทั้งสองขณะนี้อาการปลอดภัย อยู่ระหว่างการทำแผลที่โรงพยาบาลศรีสยาม ส่วนสาเหตุที่ถูกยิงนั้นอยู่ระหว่างการตรวจสอบว่าเกิดจากสาเหตุใด ซึ่งเป็นไปได้หลายประเด็นรวมทั้ง อาจเกิดจากความรำคาญของชาวบ้าน เนื่องจากนักศึกษากลุ่มดังกล่าว ได้ใช้เครื่องเสียงปราศรัยไปตามเส้นทางอาจสร้างความรำคาญให้ประชาชนจึงคิดก่อเหตุก็เป็นไได้ซึ่งต้องตรวจสอบให้แน่ชัด

ที่มา:http://www.matichon.co.th/

วันอังคารที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2551

ปิดสนามบินฝรั่งหนีกระเจิง

ผู้สื่อข่าวรายงานจากการท่องเที่ยวแห่ง ประเทศไทย (ททท.) ว่า นางพรศิริ มโนหาญ ผู้ว่าการ ททท.ได้เป็นประธานประชุมศูนย์ปฏิบัติการวางแผน การท่องเที่ยวและศูนย์ปฏิบัติการในภาวะวิกฤติ (ศวก.) โดยมีผู้บริหาร ททท. พร้อมหน้าและเชิญผู้ประกอบการในภาคเอกชนมาให้ข้อมูลผลกระทบที่ได้รับจากการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) โดยล่าสุดสำนักงาน ททท.ที่อยู่ในต่างประเทศได้ส่งข้อมูลว่าขณะนี้ 5 ประเทศที่ออกหนังสือเตือนประชาชนในประเทศให้ระมัด ระวังการเดินทางมาเที่ยวประเทศไทย ได้แก่ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ แคนาดา และอังกฤษ
นางพรทิพย์ หิรัญเกตุ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า สภาฯได้ออกแถลงการณ์กรณีการชุมนุมของ พธม.มีสาระสำคัญว่า การชุมนุมที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบด้านลบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศไทยอย่างรุนแรงแล้ว จึงเรียกร้องให้รัฐบาลและ พธม.คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมและประเทศชาติเป็นสำคัญ เพราะการเคลื่อนการชุมนุมไปยังทำเนียบฯและสถานที่ราชการ รวมทั้งการชุมนุมในหลายจังหวัดทั้งการปิดถนน สนามบิน หยุดเดินรถไฟ ยกเลิกเที่ยวบินและอื่นๆ ที่กำลังจะตามมารวมทั้งการปะทะโดยใช้กำลังทั้งสองเป็นระยะๆ ได้ส่งผลลบแก่อุตสาห-กรรมท่องเที่ยวรุนแรง โดยนักท่องเที่ยวได้เริ่มแจ้งยกเลิกการเดินทางเข้ามาไทย เนื่องจากไม่สามารถบินเข้าสนามบินภูเก็ตหรือกระบี่และหาดใหญ่ได้
ขณะที่นักท่องเที่ยวที่อยู่ในพื้นที่ต่างตื่น ตระหนกต่อสถานการณ์อย่างมาก ยอดจองท่องเที่ยวที่จะมีเข้ามาใหม่ที่ปกติต้องมีปริมาณมากเพราะ อยู่ในช่วงเข้าฤดูท่องเที่ยวปลายปีนี้ได้หยุดชะงักเกือบทั้งหมด รวมทั้งการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศของคนไทยลดลงมาก
ผลการปิดสนามบินกระทบหนัก
ทั้งนี้ เมื่อการท่องเที่ยวเป็นสิ่งอ่อนไหวง่ายหากสถานการณ์คงเป็นเช่นนี้ต่อไปย่อมส่งผลกระทบถึงขั้นมีการออกหนังสือเตือนการเดินทางท่องเที่ยวจากหลายประเทศ ซึ่งเป็นการยากแก้ไขให้นักท่อง เที่ยวกลับมาเช่นเดิม อีกทั้งการท่องเที่ยวในประเทศก็ซบเซาลง สทท.จึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหยุดสร้างสถานการณ์ที่จะเป็นผลลบต่ออุตสาหกรรมไปมากกว่านี้ในทันทีและขอเรียกร้องให้รัฐบาลและ พธม.ทำทุกอย่างโดยเห็นแก่ประโยชน์ของชาติ
“อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นรายได้หลักเข้าประเทศปีละ 700,000 ล้านบาท เป็นเม็ดเงินที่อยู่ในประเทศไทยและกระจายไปทุกส่วนจนถึงเกษตรกรเพราะนักท่องเที่ยวเข้ามาต้องทานข้าว ใช้เงิน ขอรบกวนสื่อมวลชนแจ้งอ้อนวอนทั้งฝ่ายรัฐบาลและทุกคนเห็นแก่ประเทศชาติ อย่าทำร้ายประเทศชาติถอยไปอีกเลย”
ด้านนายอภิชาติ สังฆอารี นายกสมาคมไทยธุรกิจท่องเที่ยว (แอตต้า) สมาคมที่นำนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศไทย กล่าวว่า ตั้งแต่ประ-เทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีการชุมนุมหลายครั้งแต่นักท่องเที่ยวก็ยัง เชื่อมั่นประเทศไทย แต่สาเหตุสำคัญที่สุดการปิดสนามบินได้กระทบอย่างมาก หากไม่ปิดสนามบินนักท่องเที่ยวก็ยังมาเหมือนเดิมการออกหนังสือเตือนจากรัฐบาลประเทศต่างๆ ให้ระวังมาเที่ยวประเทศไทยก็ไม่เกิด แต่ที่เขาต้องเตือนเพราะเข้ามาไทยแล้วไปต่อไม่ได้ หากไม่ปิดสนามบินก็เดินทางได้ปกติ ส่วนกรณีมีข่าวว่า พธม.จะปิดสนามบินในภาคใต้อีก 7 แห่งนั้น อยากให้คนในพื้นที่ท่องเที่ยวช่วยร่วมมือกัน เพราะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวส่งผลกระทบไปหลากหลายทั้งภาคเกษตรอุตสาหกรรมกระทบต่อพ่อ แม่ ตา ยายทุกคน เพราะไม่มีรายได้ เมื่อใดทุกคนตกงานหมด เศรษฐกิจของประเทศก็เสียหาย
รอความหวังจัดงานเที่ยวไทย
“ผมอยากขอใครก็ตามคิดจะทำอะไรให้คิดถึงพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ใครชนะก็ตาม ประเทศชาติล่มจมแล้วใครจะมาเป็นผู้กู้ ขอร้องผ่านสื่อช่วยบอกผู้ชุมนุมว่าเหตุการณ์ทั้งหมดทำอะไรไปอาจส่งผลกระทบเศรษฐกิจประเทศและจะส่งผลกระทบต่อตัวท่านเองและผม เชื่อว่าเส้นตายของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจากกลุ่มยุโรป ในวันที่ 15 ก.ย. หากการชุมนุมยังไม่สงบก็จะกระทบกับการท่องเที่ยวช่วงไฮต์ซีซั่นแน่ โดยเฉพาะกลุ่มคู่ฮันนีมูนที่เป็นนักท่องเที่ยวเกาหลีใต้อาจเปลี่ยนเป้าหมายจากไทยไปประเทศอื่น ด้านอินเดีย จีน และฮ่องกง ก็เริ่มหายไป ขณะที่ออสเตรเลียบางส่วนเปลี่ยนใจไปบาหลีแล้ว”
ส่วนการประชุมร่วมกับ ททท.ก็เตรียมหาทางปรับแผนการตลาดกัน โดย ททท.แจ้งว่าขณะนี้มีเงินในกองทุนส่งเสริมการท่องเที่ยวอยู่ที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 20 ล้านบาท หากมีความจำเป็นจริงๆ ผู้ประกอบการมีความเดือดร้อนก็นำมาใช้ได้และได้ตกลงกับ ททท.ว่าจะมีการประชุมร่วมกันทุกวันจันทร์
ด้าน น.ส.มัยรัตน์ พีระญาณ์โกเศส นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.)กล่าวว่า ยอมรับข้อคิดเห็นที่แตกต่างของภาคประชาชนในระบอบประชาธิปไตยว่าเป็นเรื่องปกติแต่ 2-3 วันที่ผ่านมาที่มีการปิดสนามบินและรถไฟหยุดวิ่งทำให้การท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยที่ซบเซาอยู่แล้วชะงักไปกันใหญ่ ทัวร์รถไฟก็หยุดชะงัก อยากให้แต่ละฝ่ายกลับมาพูดคุยหรือมีวิธีการใดให้ฝ่ายการเมืองอย่าให้เหตุการณ์นี้กระทบกับเม็ดเงินที่สร้างประเทศไม่เฉพาะจังหวัดที่มีสนามบิน แต่ภาพรวมประเทศถูกกระทบไปแล้ว
“ตอนนี้ยังหวังว่าการจัดงานไทยเที่ยวไทยระหว่าง 4-7 ก.ย.นี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จะช่วยให้คนไทยลุกขึ้นมาท่องเที่ยวกันต่อและมีแพ็กเกจน่าสนใจ โดยเฉพาะแพ็กเกจที่จัดร่วมกับแอร์เอเชียหรือหากไปเที่ยวโดยเครื่องบินไม่ได้ก็ยังไปโดยรถโค้ชได้ ช่วงนี้เป็นวิกฤติที่ทุกคนต้องมาช่วยกัน”.

ที่มา:http://www.thairath.co.th/news.php?section=economic&content=102711

ไม่จบเศรษฐกิจพังยับ ลือสะพัด'สมัคร'ถอดใจลาออก

หวั่นการเมืองเรื้อรังฉุดเศรษฐกิจไทยพังยับ นักวิชาการ-นักการเงินแนะสมัคร"สวมหัวใจนักประชาธิปไตย "ลาออก-ยุบสภา ว่าที่ประธานทีดีอาร์ไอเผยไม่ห่วงผลระยะสั้น แต่หากสถานการณ์ยืดเยื้อเกิน 6 เดือน เศรษฐกิจปีหน้ารับศึกหนัก ฝากบทเรียนอย่าแก้ปัญหาพื้นฐานแบบยาปวดหัวตัวร้อน แบงก์ชาติชี้ติดตามปัจจัยการเมืองใกล้ชิด ลือสะพัดนายกรัฐมนตรี อาจถอดใจลาออก
ผลกระทบที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ต้องการขับไล่รัฐบาล ซึ่งยังไม่มีทางออกที่ชัดเจนของปัญหา กำลังเป็นที่กังวลว่าหากสถานการณ์รุนแรงและยืดเยื้อ นอกจากความเชื่อมั่นและเศรษฐกิจที่ถูกกระทบเป็นลำดับแรกแล้ว ยังมีการคาดการณ์ว่าไม่ว่าทางออกของปัญหาจะเป็นไปในรูปแบบของประชาธิปไตยหรือไม่ เศรษฐกิจไทยอาจกลับสู่ช่วงสุญญากาศอีกครั้งหนึ่ง
++TDRIชี้6เดือนไม่จบน่าเป็นห่วง
ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ว่าที่ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า หากมองในระยะสั้น หรือภายในระยะ 6 เดือนนี้ แม้ว่าผลต่อสถานการณ์ทางการเมืองจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจบ้าง ก็ไม่ห่วง เพราะที่ผ่านมามีการรับรู้ปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด สะท้อนได้จากสถานการณ์ตลาดหุ้นไทยหรือการลงทุนจากต่างประเทศที่ไม่ได้ถึงขั้นตกลงมาก ดังนั้นเป้าหมายจีดีพีที่ 6% หรือโตใกล้เคียง 6% ในปีนี้ก็ยังมีความเป็นไปได้อยู่
แต่ในกรณีที่ผลกระทบจากสถานการณ์การเมืองลากยาวและยืดเยื้อไปเกิน 6 เดือน ก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในปีหน้า โดยเฉพาะถ้าภาวะการเมืองแย่ ก็อย่าหวังว่าเศรษฐกิจจะดี
ซึ่งทางออกของปัญหาที่ดีที่สุดไม่ควรจะเป็นการปฏิวัติหรือเกิดการนองเลือด แต่ต้องเป็นไปตามแนวทางประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นการยุบสภา หรือรัฐบาลลาออก
++ฝากบทเรียนแก้ศก.แบบยาปวดหาย
นอกจากนี้ ว่าที่ประธานทีดีอาร์ไอ ยังได้กล่าวว่า หลังจากที่สถานการณ์การเมืองคลี่คลายแล้ว ยังมีประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณา เช่น การดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจที่ต้องมีคุณภาพ
และเป็นนโยบายระยะกลางจริงๆ รวมทั้งเป็นการแก้ปัญหาที่พื้นฐาน ไม่ใช่การแก้ปัญหาแบบปวดหัวตัวร้อน เช่น นโยบาย 6 เดือน 6 มาตรการที่ควรใช้เป็นมาตรการชั่วคราวเท่านั้น
ส่วนมาตรการเศรษฐกิจที่รัฐบาลจะออกมาเพิ่มเติมนั้น ต้องประเมินสถานการณ์และปรับตัวตามเศรษฐกิจโลก ที่ขณะนี้ทั้งราคาน้ำมันและราคาอาหารได้ปรับลดลงแล้ว และที่สำคัญต้องไม่ทำนโยบายที่ทำให้เกิดความขัดแย้งของคนชั้นกลางในเมืองและชนบทเหมือนที่เป็นอยู่ในขณะนี้
+++เสนอทางออกตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจ
ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า ทางออกที่ดีที่สุดของประเทศในเวลานี้ คือ รัฐบาลต้องแสดงสปิริต ยอมลาออก และตั้งคณะบุคคล หรือรัฐบาลเฉพาะกิจขึ้นมาบริหารชั่วคราวอาจประมาณ 6 เดือน โดยหาบุคคลที่ได้รับการยอมรับจากสังคมขึ้นมาทำหน้าที่ ทั้งนี้เพื่อช่วยดับความรุนแรงที่เกิดขึ้น
ขณะที่ดร.อำพน กิตติอำพน เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นในเรื่องนี้ โดยกล่าวเพียงสั้นๆว่า สถานการณ์ขณะนี้เปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก คงไม่กล้าประเมินตอนนี้ ขอรอดูสถานการณ์ก่อน
+++แบงก์ชาติติดตามใกล้ชิด
ดร.อมรา ศรีพยัคฆ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ความเห็นว่า สถานการณ์การเมืองที่เพิ่มความรุนแรงขึ้น เป็นปัจจัยที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดต่อไป เนื่องจากอาจจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นด้านการลงทุน การบริโภค และการท่องเที่ยว แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดความรุนแรงของสถานการณ์ว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งหากสถานการณ์ยุติด้วยความเรียบร้อยไม่มีความรุนแรง ปัจจัยด้านการเมืองก็จะเป็นปัจจัยเสี่ยงชั่วคราว
+++ลือสะพัดนายกฯ อาจถอดใจลาออก
นายตัน ภาสกรนที กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (บมจ.) กล่าวถึงข่าวลือสะพัดที่ว่านายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีเลือกที่จะลาออกหรือยุบสภา ผมมองว่าถ้าไม่มีปฏิวัติสถานการณ์จะดีขึ้นกว่าเดิม เพราะไม่เช่นนั้นต่างประเทศจะกลัว ไม่กล้าเข้ามาลงทุนและหากจบได้ภายใน 2-3 วันนี้ก็จะดี ส่วนที่ว่านายกรัฐมนตรี จะเลือกวิธีไหนต้องตัดสินใจให้ดีเพราะมีผลต่อประเทศชาติ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของท่าน แต่ก็อยากให้ทุกฝ่ายมองประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก
+++คาดหวังได้คนสะอาดปลอดนายทุนหนุน
นายองอาจ มหาดำรงค์กุล กรรมการบริหาร หจก.ศรีทองพาณิชย์ กล่าวว่าหากนายกรัฐมนตรีลาออก สถานการณ์โดยรวมจะดีขึ้น กลุ่มพันธมิตรฯน่าจะเลิกชุมนุม ภาพลักษณ์ประเทศกลับมาดี ทั้งการลงทุน-อารมณ์ผู้บริโภคกำลังซื้อดีขึ้น ส่วนความคาดหวังทางการเมืองใหม่ ตนอยากได้นักการเมืองที่สะอาด ปลอดโปร่ง ไม่มีนายทุนซัพพอร์ต ทำเพื่อประเทศชาติจริงจัง ไม่ใช่เพื่อใครคนใดคนหนึ่ง และมีจุดยืนเป็นตัวของตัวเอง
"ที่ผ่านมานักธุรกิจส่วนใหญ่ไม่ค่อยชอบรัฐบาลชุดนี้ เพราะเป็นนอมินีทั้งหมด เศรษฐกิจหลังรัฐบาลใหม่อาจต้องใช้เวลาพลิกฟื้น เพราะที่ผ่านมาการค้าการลงทุนชะลอตัวทำให้ประเทศเสียหายไปเยอะ ถ้าได้รัฐบาลใหม่คิดว่าอาจต้องใช้เวลาปรับปรุงพอสมควร"
นักธุรกิจภูธร เสียงแตก สมัคร ออกบ้านเมืองยังวุ่นวายเหมือนเดิม
กงกฤช หิรัญกิจ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า ไม่ว่านายกรัฐมนตรีไทย จะตัดสินใจลาออกหรือยุบสภา ผมก็ยังไม่มั่นใจว่าปัญหาต่างๆจะยุติลงได้ในระยะยาว แต่ในระยะสั้นอาจจะลดบรรยากาศความตึงเครียดที่เกิดขึ้นได้บ้าง
"เป้าหมายหลักของกลุ่มพันธมิตรฯ คือไม่ต้องการพรรคพลังประชาชน ดังนั้นหากนายสมัคร ลาออก ก็ต้องดึงคนในรัฐบาลขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน ทางพันธมิตรฯก็คงมีการเดินหน้าเรียกร้องต่อไปเรื่อยๆหรือแม้จะมีการยุบสภา แล้วมีการเลือกตั้งใหม่ หากพรรคพลังประชาชนกลับมาเป็นรัฐบาลอีก จะเป็นอย่างไร ดูเหมือนจะเป็นทางตันไปหมด ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวอย่างมาก หากไม่สามารถยุติความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้"
++ไม่เชื่อ"สมัคร"จะลาออกง่าย ๆ
อย่างไรก็ตามด้านนายคมสัน โพธิ์คง ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) กล่าวว่าการที่นายสมัครจะลาออก เป็นเรื่องลำบากมากเพราะเป็นคนที่ยอมหักไม่ยอมงอ นอกเสียจากว่าจะมีการโค่นลงจนถึงที่สุดจริงๆ อย่างไรก็ตามหากจะลาออกจริงเรื่องจะยังไม่ยุติเหตุการณ์อาจเบาลงเท่านั้น และหากลาออกพรรคพลังประชาชนก็จะหาคนใหม่มาเปลี่ยนตัว เป้าหมายของกลุ่มพันธมิตรฯก็จะเปลี่ยนไปโจมตีคนใหม่เพราะตอนนี้สถานการณ์บานปลายไปแล้วแต่หากนายกฯลาออกจริงก็ขึ้นกับกลุ่มพันธมิตรฯว่าจะรอกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ถ้ารอก็ถือว่าเป็นการยอมถอยเช่นกัน ส่วนการยุบสภามองว่าคงยากยิ่งขึ้น
ขณะที่ ดร.เจษฎ์ โทณวณิก นักวิชาการอิสระ เห็นว่าทางออกในขณะนี้คือควรต้องมีการถอย รัฐบาลควรถอยด้วยการลาออกทั้งคณะ และทางพันธมิตรฯก็ควรเลิกชุมนุม คิดว่าบ้านเมืองเกิดการระส่ำและอยู่ในภาวะความไม่สงบลุกลามไปทั่ว ถ้ารัฐบาลยังคงอยู่ก็ไม่เป็นผลดีกับทุกฝ่าย รัฐบาลและพันธมิตรฯไม่ยอม ประชาชนแพ้เท่ากับประเทศก็จะล้ม ซึ่งใครจะเสนอถอยก่อนก็น่าจะดีที่สุด
+++สศค. เตรียมปรับประมาณการจีดีพี
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รักษาการผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) กล่าวว่า ความรุนแรงของสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ หากนำไปสู่กระบวนการลาออกของ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี หรือการยุบสภา ก็ยังไม่สามารถที่จะประเมินได้อย่างชัดเจนว่า ทิศทางของเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นหรือแย่ลง เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมา ก็มีบางครั้งที่เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นแล้ว เศรษฐกิจก็มีการปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น จึงน่าจะขึ้นอยู่กับความชัดเจนทางการเมืองมากกว่า
ในส่วนของผลกระทบทางเศรษฐกิจ คงกระทบต่อตัวเลขการใช้จ่ายภายในประเทศบ้าง ซึ่งเป็นการบั่นทอนตัวเลขการใช้จ่ายและการลงทุน ที่กำลังมีแนวโน้มที่ฟื้นตัวได้อย่างชัดเจน ซึ่งสศค.ประเมินว่าจะบั่นทอนอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ของไทยลดลง และอาจทำให้โครงสร้างจีดีพีของไทยกลับไปอยู่ในสภาพเดิม ที่เป็นการเติบโตด้วยการพึ่งพาการส่งออกเพียงด้านเดียว
นอกจากนี้ อาจส่งผลกระทบในด้านดุลบริการ ที่สถานการณ์ที่เป็นอยู่อาจจะกระทบกับตัวเลขการท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ที่ปกติจะมีการจองห้องพักล่วงหน้าไว้ประมาณ 3 เดือน ดังนั้นจึงเชื่อว่า แนวโน้มตัวเลขการท่องเที่ยวในระยะต่อไปน่าจะมีการปรับตัวลดลงไปได้บ้าง ส่วนผลกระทบต่อจีดีพีโดยรวมนั้น สศค. จะมีการประกาศตัวเลขคาดการณ์จีดีพีอีกครั้ง ในวันที่ 25 กันยายน 2551 นี้ โดยจะมีการนำเอาปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองและผลกระทบต่างๆ เข้ามาพิจารณาร่วมด้วย โดยที่ก่อนหน้านี้ สศค. คาดว่า จีดีพีของไทยตลอดทั้งปี 2551 จะมีการขยายตัวได้ในช่วง 5-6% ต่อปี
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ ธปท.เพิ่งปรับประมาณการจีดีพีปี 2551 อยู่ที่ 4.8-5.8% และในปี 2552 ประมาณการไว้ที่ 4.3-5.8% ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ประมาณการจีดีพีปีนี้ไว้ที่ 5.2-5.7%


ที่มา:http://www.thannews.th.com/detialNews.php?id=T0123531&issue=2353

ระเบิดป้อมตร.ยับ ป่วนกรง! ถล่มใกล้ "เวทีมัฆวาน"

"เสธ.แดง"โผล่ดู-ชี้ปม ฟันธงทีเอ็นที-ซ้ำรอย บึ้มบ้านป๋า-สันติอโศก "มหา"ชี้ปั่นสถานการณ์
วางบึ้มป้อมตร.ริมคลองผดุงกรุงเกษม ใกล้เวทีพันธมิตรฯ สะพานมัฆวานฯ กลางดึก แรงระเบิดทำให้กระจก ป้อมและอาคารข้างเคียงแตกกระจายเกลื่อน เศษกิ่งไม้ใบไม้ปลิวว่อน กลิ่นดินปืนคละคลุ้ง โชคดีไม่มีใครบาดเจ็บล้มตาย "เสธ.แดง"รุดมาดูระบุเป็นระเบิดทีเอ็นที ห่อกระดาษหนังสือพิมพ์ซุกใต้คอมเพรสเซอร์แอร์หลังป้อม ฟังธงเป็นลักษณะเดียวกับบึ้มหน้าบ้านป๋าเปรม พรรคปชป. สันติ อโศก ช่วงคมช.จงรักประเดิมงานรักษาการผบช.น.วันแรกสั่งทุกบก.สน.ป้องกันเหตุรับมือก่อกวนทั่วกรุงเมื่อเวลา 01.00 น.วันที่ 1 ก.ย. พ.ต.ท. สุวรรณ ผลอินทร์ พงส.(สบ 3) สน.นางเลิ้ง รับแจ้งเหตุระเบิดป้อมตำรวจ บริเวณเชิงสะพาน วิศสุกรรมนฤมาน ริมคลองผดุงกรุงเกษม แยกประชาเกษม ถ.กรุงเกษม แขวงบางขุนพรหม เขตพระนคร กทม. จึงรายงานผู้บังคับบัญชา จากนั้นรุดไปตรวจสอบพร้อมด้วยพล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน ผบก.น.1 พ.ต.อ.ทรงพล วัธนะชัย รอง ผบก.น.1 เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน (พฐ.) และเจ้าหน้าที่เก็บกู้วัตถุระเบิด บก.ตปพ.(191)ที่เกิดเหตุเป็นป้อมตำรวจ ตู้สัญญาณไฟเลขที่ 083 เชิงสะพานวิศสุกรรมนฤมาน ริมคลองผดุงกรุงเกษม ฝั่งวัดมกุฏกษัตริยาราม ตรงข้ามคุรุสภา ห่างจากสะพานมัฆวานรังสรรค์ ที่ตั้งเวทีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยประมาณ 300 เมตร เจ้าหน้าที่นำแผงเหล็กและเชือกมาปิดกั้นบริเวณที่เกิดเหตุ รวมถึงติดแผ่นป้ายข้อความเป็นพื้นที่อันตรายห้ามบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไป พร้อมทั้งปิดถนนชั่วคราวเพื่อตรวจสอบพื้นที่ และเก็บหลักฐานในที่เกิดเหตุจากการตรวจสอบพบว่า แรงระเบิดทำให้กระจกของป้อมตำรวจแตกได้รับความเสียหาย เศษกระจกกระจัดกระจายเต็มพื้นถนนและบริเวณใกล้เคียง ด้านหลังป้อมพบซากคอมเพรสเซอร์แอร์ถูกแรงระเบิดอัดจนพังยับเยิน กิ่งไม้และเศษกระดาษหล่นทับเต็มไปหมด กลิ่นดินปืนคลุ้งไปทั่วบริเวณ แรงดันระเบิดยังส่งผลต่อเนื่องให้กระจกอาคารเลขที่ 302-306 ของสมาคมสหพันธ์โรงเรียนเอกชนแห่งประเทศไทยสูง 4 ชั้น แตกร้าวถึง 8 บาน แต่ไม่มีผู้ใดเสียชีวิตและบาดเจ็บ
ร่วมตรวจ- "เสธ.แดง"พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล นายทหารคนดัง เดินทางไปดูที่เกิดเหตุระเบิดบริเวณป้อมจราจรสน.นางเลิ้ง ริมคลองผดุงกรุงเกษม ใกล้เวทีกลุ่มพันธมิตรฯ พบเป็นระเบิดชนิดทีเอ็นที ตร.ระบุเป็นการป่วนเมืองเท่านั้นสอบสวนนายวนัส ศิริรักษ์ อายุ 38 ปี อยู่บ้านเลขที่ 887/39 แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กทม. โชเฟอร์แท็กซี่สีชมพู ทะเบียน ทร 4671 กทม. เปิดเผยว่า ก่อนเกิดเหตุขับรถมาส่งผู้โดยสารแถวสะพานมัฆวานฯ จากนั้นรถมาติดสัญญาณไฟแดงบริเวณแยกประชาเกษม ใกล้จุดเกิดเหตุ จังหวะสัญญาณไฟเขียวได้ขับรถเลี้ยวขวาขึ้นสะพานไปทางคุรุสภา ช่วงกำลังจะลงสะพานได้ยินเสียงระเบิดดังสนั่น 1 ครั้ง เมื่อหันหลังไปมองพบเปลวไฟลุกขึ้นบริเวณหลังป้อมตำรวจ มีควันสีดำออกมาจำนวนมาก จึงรีบจอดรถออกมาสำรวจดูสภาพรถของตนเอง แต่ไม่ได้รับความเสียหายเพราะขับเลยป้อมมาพอสมควร อีกไม่นานตำรวจก็เดินทางมาถึงที่เกิดเหตุต่อมาเวลา 01.30 น. พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ "เสธ.แดง" ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก พร้อมด้วยนายพิชา วิจิตรศิลป์ ทนายความ เดินทางมาดูที่เกิดเหตุ เสธ.แดงบอกกับผู้สื่อข่าวว่า เพิ่งจะกลับจากงาน "เสธ.แดงทอล์ก" ที่โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ พอดีได้ยินข่าวระเบิดจึงเดินทางมาดู จากนั้นเสธ.แดงเข้าไปตรวจสอบที่เกิดเหตุประมาณ 20 นาที แล้วออกมาเปิดเผยว่า เท่าที่ตรวจสอบที่เกิดเหตุร่วมกับตำรวจน่าจะเป็นระเบิดทีเอ็นที ห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ นำมาซุกไว้ใต้คอม เพรสเซอร์แอร์ด้านหลังป้อม แรงระเบิดทำให้คอมเพรสเซอร์แอร์ฉีกขาด กระจกป้อมแตกกระจาย ส่งผลไปถึงอาคารตรงข้ามเสธ.แดงกล่าวต่อว่า ตรวจสอบโดยรอบแล้วไม่พบสะเก็ดระเบิด เพราะเป็นระเบิดใช้แรงดัน คาดว่าคนวางไม่ได้หวังทำร้ายใคร แต่ถ้ามีคนอยู่ใกล้ป้อมตำรวจในช่วงระเบิดแรงระเบิดทำให้ถึงตายได้ ส่วนใช้อะไรเป็นตัวจุดชนวนต้องรอเจ้าหน้าที่ตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง ระเบิดชนิดนี้คล้ายกับที่เคยใช้ก่อเหตุหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ และสำนักสันติอโศก เมื่อครั้งมีกลุ่มการเมืองออกมาขับไล่คมช.ด้านพ.ต.อ.ทรงพล วัฒนะชัย รองผบก.น.1 เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบจุดระเบิดซึ่งใกล้กับคอมเพรสเซอร์แอร์ด้านหลังป้อมตำรวจคาดว่าน่าจะเป็นระเบิดทีเอ็นที ไม่มีสะเก็ดระเบิด ไม่หวังผลต่อชีวิต แค่ต้องการทำให้เกิดความเสียหายเท่านั้น โดยป้อมตำรวจจุดนี้ปกติปิดใช้งานประมาณ 3 ทุ่ม คิดว่าคนร้ายน่าจะนำมาวางไว้หลัง 3 ทุ่มไปแล้ว บริเวณดังกล่าวไม่ได้ติดตั้งกล้องวงจรปิดไว้ เจ้าหน้าที่ได้เก็บรวบรวมหลักฐานทั้งหมดไว้แล้ว เพื่อนำไปตรวจสอบตามกระบวนการอีกครั้งคาดว่าใช้เวลาไม่นานจะทราบรายละเอียดอื่นๆ เบื้องต้นสันนิษฐานว่าเป็นการสร้างสถานการณ์วันเดียวกันเวลา 08.40 น. พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ รองผบ.ตร. และรักษาการผบช.น. เดินทางมายังบช.น. เพื่อร่วมประชุมกับพล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย และนายตำรวจที่เกี่ยวข้อง เมื่อมาถึงพล.ต.อ.จงรักเข้ากราบไหว้สักการะอนุสาวรีย์พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากฤษฎาภินิหาร กรมพระยานเรศวรฤทธิ์ เจ้ากรมนครบาลคนแรกพล.ต.อ.จงรักกล่าวถึงเหตุระเบิดป้อมตำรวจเมื่อคืนที่ผ่านมาว่า ได้รับรายงานว่าเวลาประมาณ 02.00 น. มีเหตุระเบิดขึ้น เชื่อว่าน่าจะเป็นมือที่ 3 เพราะระเบิดไม่ได้มุ่งหวังทำลายชีวิตหรือทรัพย์สิน น่าจะต้องการสร้างสถานการณ์ความวุ่นวายให้กับบ้านเมือง หากใครเป็นคนทำขอให้หยุด เพราะบ้านเมืองบอบช้ำมามากแล้ว อยากให้แก้ไขตามวิถีทางของกฎหมายและรัฐธรรมนูญดีกว่า ช่วงที่ผ่านมามีระเบิดมาแล้วนับ 10 ครั้ง ส่วนครั้งนี้เป็นระเบิดชนิดใดนั้น ขอเวลาผกก.สน.นางเลิ้ง รวบรวมพยานหลักฐานก่อน รวมทั้งต้องรอผลพิสูจน์จากพฐ.ด้วยผู้สื่อข่าวถามว่ารู้ตัวมาก่อนหรือไม่ว่าต้องมา ดูแลบช.น.แทนพล.ต.ท.อัศวิน ขวัญเมือง ในลักษณะนี้ พล.ต.อ.จงรักกล่าวว่า ไม่ทราบมาก่อน รู้ว่าต้องมาทำงานเมื่อวานนี้ ไม่มีปัญหาอะไร เพราะตนโตที่นี่ มีลูกน้องเยอะแยะ วันนี้มาทำงานก็เอาปากกามาด้ามเดียว และทำหน้าที่เพียงแค่รักษาการผบช.น. ส่วน ผบ.ดูแลเหตุการณ์การชุมนุมยังมอบหมายพล.ต.ต.สุชาติ เหมือนแก้ว รองผบช.น. ว่าที่ผบช.น. รับผิดชอบด้านพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวที่ถามว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ขณะนี้ได้หรือไม่ว่า เท่าที่เห็นไม่มีอะไร เราต้องป้องกันไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่งกัน ไม่มีอะไรขณะที่พล.ต.จำลอง ศรีเมือง พร้อมด้วยนายสมศักดิ์ โกศัยสุข และนายพิภพ ธงไชย แกนนำพันธมิตรฯ ร่วมกันแถลงข่าวที่เวทีพันธมิตรฯ ภายในทำเนียบรัฐบาล โดยพล.ต.จำลองกล่าวถึงเหตุระเบิดที่ป้อมตำรวจใกล้กับสถานที่ชุมนุมเวทีมัฆวานฯ ว่า ไม่ทราบว่าเป็นฝีมือของใคร และยังไม่ได้ไปดูที่เกิดเหตุ แต่เชื่อว่าไม่ใช่การสร้างสถานการณ์ของกลุ่มผู้ชุมนุม ส่วนจะเป็นฝีมือของใครนั้นตนไม่ขอวิจารณ์ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นางจรวยพร ธรณินทร์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงเหตุระเบิดป้อมตำรวจหน้าวัดมกุฏฯ ว่า ยังไม่ได้รับรายงานจากตำรวจถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ก่อนหน้านี้กำชับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของ ศธ.ดูแลตรวจตราภายในกระทรวงอย่างเข้มงวดตลอด 24 ช.ม. นอกจากนี้ยังปิดประตูทางเข้า-ออกของกระทรวงทุกประตู ยกเว้นประตูด้านคุรุสภา ถนนราชสีมา โดยให้เข้า-ออกได้เฉพาะประตูนี้เท่านั้น อย่างไรก็ตามเรื่องความปลอดภัยเป็นเรื่องที่แต่ละหน่วยงานต้องเฝ้าระมัดระวัง

รุมต้านภาวะฉุกเฉิน อธิการบดีม.รัฐ21แห่งลงมติจี้"หมัก"ยุบสภา-องค์กรเอกชน-นักวิชการทั่วปท.ให้ลาออก

อธิการบดีมหาวิทยาลัย 21แห่งมีมติให้"สมัคร"ยุบสภาทันทีแก้วิกฤต-ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน องค์กรเอกชน-นักวิชาการ-องค์กรสื่อรุมจี้นายกรัฐมนตรีไขก๊อก ประณามมีการสร้างสถานการ์เพื่อสร้างเงื่อนไขใช้พระราชกำหนด

อธิการบดีมรัฐ21 แห่งลงมติให้"หมัก"ยุบสภา
เมื่อเวลา 19.30 น.วันที่ 2 กันยายน 2551 ที่โรงแรมสยามซิตี้ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรัฐ 21 แห่งประชุมในนาม ทปอ. จากนั้นนายมณฑล สงวนเสริมศรี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ประธานในที่ประชุมพร้อมด้วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยรัฐหลายแห่ง เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงแถลงว่า ที่ประชุมมีมติร่วมกันให้เสนอแนวทางต่อนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี เพื่อแก้ไขวิกฤตชาติ ได้แก่

1.ขอเรียกร้องให้นายกฯเสียสละด้วยการยุบสภาทันทีเพื่อระงับความวุ่นวาย

2.ขอให้นายกฯ และ ครม.ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพราะส่งผลกระทบต่อสภาพสังคมและเศรษฐกิจ

ปชป.แถลงอัด"หมัก"รุนแรงชี้ประวัติการเมืองอันตราย
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เรียกประชุมแกนนำและส.ส.ของพรรคเป็นการด่วน เพื่อหารือถึงสถานการณ์ดังกล่าวและกำหนดท่าทีของพรรค ที่ห้องประชุมชั้น 3 อาคาร ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช โดยใช้เวลาประชุมนาน 3 ชั่วโมง จากนั้น นายอภิสิทธิ์ แถลงผลการประชุม ว่า พรรคได้ติดตามสถานการณ์และรับทราบข้อเท็จจริงต่างๆ รวมถึงการตัดสินใจของรัฐบาลที่ประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เราจึงขอแสดงท่าทีและจุดยืน ผ่านแถลงการณ์ ดังนี้
1.เราขอแสดงความเสียใจกับความสูญเสียที่เกิดขึ้น กับผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ รวมถึงครอบครัวของบุคคลเหล่านี้ ตนถือว่าการสูญเสียของทุกคนคือการสูญเสียของคนไทย ไม่ว่าจะเป็น นปช.หรือพันธมิตรฯ และพรรคจะติดตามว่าคนเหล่านี้ได้รับการดูแล การชดเชย หรือการเยียวยาตามที่ควรจะเป็นหรือไม่
"ผมอยากจะถามนายกฯ ว่าที่ท่านได้ปฏิเสธข้อเสนอต่างๆ ของเรา และบอกว่าจะตัดสินใจแบบของท่านเพื่อรักษาบ้านเมือง อยากจะถามว่านี่หรือการรักษาบ้านเมืองของท่านที่นำให้คนไทยต้องมาปะทะกันถึงขั้นฆ่ากันตาย และเราทราบว่ายังมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนที่กำลังเดินทางเข้ามาและพร้อมจะมีการใช้ความรุนแรง"นายอภิสิทธิ์ กล่าว
2.พรรคยืนยันอย่างหนักแน่นว่าไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงทุกประเภท แต่ไม่ได้ปฏิเสธสิทธิการชุมนุมของกลุ่มใด แต่จะต้องเป็นลักษณะต่างคนต่างชุมนุม ไม่ใช่มีเจตนาทำร้ายอีกฝ่าย ขณะเดียวกัน ทั้ง 2 ฝ่ายต้องไม่มีการยั่วยุให้เกิดความรุนแรง
3.จากการติดตามและประมวลข้อมูลทั้งหมด เห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่อุบัติเหตุหรือเรื่องบังเอิญ แต่เป็นการจงใจของผู้มีอำนาจที่ต้องการนำบ้านเมืองมาสู่จุดนี้ เพื่อสร้างเงื่อนไขนำไปสู่การประกาศภาวะฉุกเฉิน และนำไปสู่จุดหมายอื่นต่อไปตามความต้องการของผู้มีอำนาจ ซึ่งพรรคมีข้อมูลหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความเคลื่อนไหวของคนในรัฐบาล ทั้งระดับรัฐมนตรี ส.ส. และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับแกนนำรัฐบาล อาจรวมถึงตัวนายกรัฐมนตรีด้วยที่สนับสนุนให้ประชาชนเดินทางเข้ามาเพื่อให้เกิดการเผชิญหน้ากัน และมีการปลุกระดมในที่ชุมนุมอย่างชัดเจนให้ออกมาร่วมเคลื่อนไหว แม้กระทั่งมีการให้รางวัลแก่ผู้ที่สามารถกระทำการที่นำไปสู่ความรุนแรงต่ออีกฝ่ายได้
"ใครก็ตามที่ติดตามประวัติของนายกฯคนนี้จะไม่รู้สึกแปลกใจใดๆ เลย ใครที่สงสัยในวันที่นายกฯเข้าสู่ตำแหน่งและมีการรื้อฟื้นเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ขึ้นมา โดยมีการตั้งข้อสงสัยและห่วงใยไปถึงสถานการณ์ปัจจุบันว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งวันนี้ก็ประกาศชัดเจนแล้วว่าถ้ามีนายกฯ ที่มีประวัติและท่าทีเช่นนี้ บ้านเมืองจะเข้าสู่วิกฤติแน่นอน ในอารยประเทศ ถ้ามีการบริหารประเทศผิดพลาดและจงใจให้เกิดเหตุร้ายแรงเช่นนี้ จะต้องมีการแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองและทางกฎหมายด้วย ปัญหาของบ้านเมืองวันนี้ ผมไม่รู้จะเรียกร้องอะไรจากนายกฯได้อีก เพราะท่านไม่ใช้เหตุผล ไม่ใช้สติ เรียกร้องอะไรไปก็ไม่เกิดผล แต่ขอย้ำว่าสังคมที่มีวัฒนธรรมทางการเมืองที่เจริญแล้ว ความรับผิดชอบอยู่ที่นายกฯเต็มๆ" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
4.การที่นายกฯมอบหมายอำนาจให้พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) รับผิดชอบนั้น ตนเห็นว่า ผบ.ทบ.กำลังถูกวางตัวให้เป็นเหยื่อรายต่อไปของนายกฯ เพราะถ้า ผบ.ทบ.ดำเนินการแล้วเกิดความรุนแรงขึ้น ตนมั่นใจว่านายกฯจะโยนความผิดให้ผบ.ทบ. โดยอ้างว่ามอบอำนาจทางกฎหมายให้แล้ว ในทางกลับกัน ถ้าผบ.ทบ.ไม่ดำเนินการหรือไม่สนใจ ปล่อยให้เหตุการณ์เกิดความร้ายแรงต่อไป นายกฯก็จะดำเนินการกับผบ.ทบ.ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ จึงขอเรียกร้องให้ผบ.ทบ.ยืนอยู่ข้างประเทศชาติและประชาชน การคลี่คลายสถานการณ์ฉุกเฉินในขณะนี้ต้องคำนึงถึงความละเอียดอ่อนในสถานการณ์ความขัดแย้ง เพราะไม่ใช่เป็นการประกาศภาวะฉุกเฉินจากภัยพิบัติ ภัยธรรมชาติ หรือจากการกระทำของกลุ่มใดที่ไม่สามารถควบคุมการกระทำของตัวเองได้ แต่เป็นความขัดแย้งทางการเมืองที่โยงใยถึงผู้มีอำนาจเข้ามายุยงส่งเสริม
นายอภิสิทธิ์กล่าวอีกว่า ดังนั้น ผบ.ทบ.ต้องแสดงให้คนไทยเห็นว่าจะใช้อำนาจอย่างมีสติ และห่วงใยชีวิตของทุกคน รวมถึงจะไม่ใช้ความรุนแรง และใช้อำนาจที่มีเปิดการเจรจาเพื่อหาทางออกและเอาความเป็นธรรมกลับคืนสู่สังคม เช่น การมอบอำนาจให้จัดการกับสื่อมวลชนที่ยั่วยุ ขอให้เริ่มต้นจากสื่อของรัฐก่อน ถ้าต้องการให้พรรคประชาธิปัตย์ร่วมคลี่คลายปัญหาในเรื่องใด พรรคพร้อมให้ความร่วมมือ อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้น เรื่องสำคัญที่สุด คือ ต้องไม่ให้สถานการณ์บานปลาย และต้องใช้การเจรจาเป็นทางออกที่ดีที่สุด
คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) นำโดยนายสุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดี รองอธิการบดี 10 คน คณบดี 20 คน ผู้อำนวยการสำนักและผู้อำนวยการสถาบัน 12 คน รวมจำนวน 42 คน ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์เรียกร้องให้ทหารและตำรวจงดเว้นการใช้กำลังและใช้ความรุนแรงใดๆ ต่อผู้ชุมนุมทุกฝ่าย ขอให้ทุกฝ่ายยุติการยั่วยุให้เกิดความรุนแรง ขอให้นายกรัฐมนตรีเสียสละให้มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่ เพื่อให้เวลาและให้โอกาสแก่สังคมไทยในการเยียวยาความเสียหาย

องค์กรเอกชน-นักวิชาการทั่วประเทศแถลงการณ์ต้านพ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ขณะเดียวกัน 31 คณาจารย์ มธ. จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ศิลปากร นเรศวร สุโขทัยธรรมาธิราช, คณาจารย์ 30 คนของคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ, คณาจารย์มหาวิทยาลัยรังสิต, เครือข่ายทันตแพทย์เพื่อประชาธิปไตย นำโดยทันตแพทย์ไพศาล กังวลกิจ, มูลนิธิ 14 ตุลาฯ นำโดย นพ.วิชัย โชควิวัฒน, ชมรมแพทย์ชนบท นำโดย นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ, ภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน, คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรเครือข่าย, เครือข่ายประชาสังคมเพื่อความสมานฉันท์ภาคเหนือ 72 องค์กร นำโดยนายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ฯลฯ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรียกเลิกประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และขอให้เสียสละด้วยการลาออกหรือยุบสภาอย่างใดอย่างหนึ่ง
นอกจากนี้ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย, ชมรม ส.ส.ร. 50, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน, สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย โดยนางชมัยพร แสงกระจ่าง นายกสมาคม, คณาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ นำโดยนายสุริชัย หวันแก้ว, เครือข่ายสังคมไทยพร้อมใจปฏิเสธความรุนแรง นำโดยนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล, สภาทนายความไทย ออกแถลงการณ์ขอให้ทุกฝ่ายยึดมั่นในแนวทางสันติวิธี ละเว้นการใช้วิธีการใดๆ ที่เป็นเงื่อนไขนำไปสู่ความรุนแรง
ส่วนเครือข่ายคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชน นำโดยนางทิชา ณ นคร ออกจดหมายเปิดผนึกถึงคุณหญิงสุรัตน์ สุนทรเวช และครอบครัวแนะนำให้นายสมัครลาออกหรือยุบสภา
นอกจากนี้ รศ.ดร.บุญสม ศิริบำรุงสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับตัวแทนนักศึกษาและคณาจารย์ แถลงให้รัฐบาลยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินโดยเร็ว และขอให้ผู้นำรัฐบาลพิจารณาลาออก หรือยุบสภา
ที่มหาวิทยาลัยพายัพ จ.เชียงใหม่ เครือข่ายประชาสังคมเพื่อความสมานฉันท์ภาคเหนือ จำนวน 72 องค์กร ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้นายสมัครลาออกจากนายกฯ และยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
อีกด้านหนึ่ง รศ.ดร.วรพล พรหมิกบุตร ตัวแทนนักวิชาการเพื่อประชาธิปไตยและสันติวิธี ออกแถลงการณ์ชื่นชมรัฐบาลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ร่วมกันคลี่คลายสถานการณ์ด้วยความอดทนในการใช้แนวทางสันติวิธีต่อผู้ชุมนุม ส่วนองค์กรชาวพุทธแห่งประเทศไทยออกแถลงการณ์สนับสนุนให้กำลังใจรัฐบาล

ที่มา:http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1220365184&grpid=00&catid=00

กองทะเบียนประวัติอาชญากรรม สตช. แจกจ่ายหมายจับแกนนำพันธมิตรฯ


ประกาศกองทะเบียนประวัติอาชญากรประกาศสืบจับแกนนนำพันธมิตรกับพวกรวม 9 คน ทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ 2 กันยายน ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) มีรายงานว่า หลังจากที่ศาลอาญา อนุมัติหมายจับแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย 9 คน ในหลายข้อหาฉกรรจ์นั้น กองทะเบียนประวัติอาชญากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ทำประกาศสืบจับตามระเบียบทางธุรการ แล้วนำข้อมูลประกาศสืบจับแกนนำพันธมิตรฯทั้ง 9 คน แจกจ่ายลงในระบบข้อมูลหมายจับของหน่วยงานตำรวจทั่วประเทศ เช่นเดียว กับกรณีประกาศสืบจับ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร จำเลยในคดีที่ดินรัชดาฯ


ที่มา:http://www.matichon.co.th/news_article.php?grpid=02