วันอังคารที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2551

รุมต้านภาวะฉุกเฉิน อธิการบดีม.รัฐ21แห่งลงมติจี้"หมัก"ยุบสภา-องค์กรเอกชน-นักวิชการทั่วปท.ให้ลาออก

อธิการบดีมหาวิทยาลัย 21แห่งมีมติให้"สมัคร"ยุบสภาทันทีแก้วิกฤต-ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน องค์กรเอกชน-นักวิชาการ-องค์กรสื่อรุมจี้นายกรัฐมนตรีไขก๊อก ประณามมีการสร้างสถานการ์เพื่อสร้างเงื่อนไขใช้พระราชกำหนด

อธิการบดีมรัฐ21 แห่งลงมติให้"หมัก"ยุบสภา
เมื่อเวลา 19.30 น.วันที่ 2 กันยายน 2551 ที่โรงแรมสยามซิตี้ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรัฐ 21 แห่งประชุมในนาม ทปอ. จากนั้นนายมณฑล สงวนเสริมศรี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ประธานในที่ประชุมพร้อมด้วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยรัฐหลายแห่ง เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงแถลงว่า ที่ประชุมมีมติร่วมกันให้เสนอแนวทางต่อนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี เพื่อแก้ไขวิกฤตชาติ ได้แก่

1.ขอเรียกร้องให้นายกฯเสียสละด้วยการยุบสภาทันทีเพื่อระงับความวุ่นวาย

2.ขอให้นายกฯ และ ครม.ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพราะส่งผลกระทบต่อสภาพสังคมและเศรษฐกิจ

ปชป.แถลงอัด"หมัก"รุนแรงชี้ประวัติการเมืองอันตราย
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เรียกประชุมแกนนำและส.ส.ของพรรคเป็นการด่วน เพื่อหารือถึงสถานการณ์ดังกล่าวและกำหนดท่าทีของพรรค ที่ห้องประชุมชั้น 3 อาคาร ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช โดยใช้เวลาประชุมนาน 3 ชั่วโมง จากนั้น นายอภิสิทธิ์ แถลงผลการประชุม ว่า พรรคได้ติดตามสถานการณ์และรับทราบข้อเท็จจริงต่างๆ รวมถึงการตัดสินใจของรัฐบาลที่ประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เราจึงขอแสดงท่าทีและจุดยืน ผ่านแถลงการณ์ ดังนี้
1.เราขอแสดงความเสียใจกับความสูญเสียที่เกิดขึ้น กับผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ รวมถึงครอบครัวของบุคคลเหล่านี้ ตนถือว่าการสูญเสียของทุกคนคือการสูญเสียของคนไทย ไม่ว่าจะเป็น นปช.หรือพันธมิตรฯ และพรรคจะติดตามว่าคนเหล่านี้ได้รับการดูแล การชดเชย หรือการเยียวยาตามที่ควรจะเป็นหรือไม่
"ผมอยากจะถามนายกฯ ว่าที่ท่านได้ปฏิเสธข้อเสนอต่างๆ ของเรา และบอกว่าจะตัดสินใจแบบของท่านเพื่อรักษาบ้านเมือง อยากจะถามว่านี่หรือการรักษาบ้านเมืองของท่านที่นำให้คนไทยต้องมาปะทะกันถึงขั้นฆ่ากันตาย และเราทราบว่ายังมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนที่กำลังเดินทางเข้ามาและพร้อมจะมีการใช้ความรุนแรง"นายอภิสิทธิ์ กล่าว
2.พรรคยืนยันอย่างหนักแน่นว่าไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงทุกประเภท แต่ไม่ได้ปฏิเสธสิทธิการชุมนุมของกลุ่มใด แต่จะต้องเป็นลักษณะต่างคนต่างชุมนุม ไม่ใช่มีเจตนาทำร้ายอีกฝ่าย ขณะเดียวกัน ทั้ง 2 ฝ่ายต้องไม่มีการยั่วยุให้เกิดความรุนแรง
3.จากการติดตามและประมวลข้อมูลทั้งหมด เห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่อุบัติเหตุหรือเรื่องบังเอิญ แต่เป็นการจงใจของผู้มีอำนาจที่ต้องการนำบ้านเมืองมาสู่จุดนี้ เพื่อสร้างเงื่อนไขนำไปสู่การประกาศภาวะฉุกเฉิน และนำไปสู่จุดหมายอื่นต่อไปตามความต้องการของผู้มีอำนาจ ซึ่งพรรคมีข้อมูลหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความเคลื่อนไหวของคนในรัฐบาล ทั้งระดับรัฐมนตรี ส.ส. และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับแกนนำรัฐบาล อาจรวมถึงตัวนายกรัฐมนตรีด้วยที่สนับสนุนให้ประชาชนเดินทางเข้ามาเพื่อให้เกิดการเผชิญหน้ากัน และมีการปลุกระดมในที่ชุมนุมอย่างชัดเจนให้ออกมาร่วมเคลื่อนไหว แม้กระทั่งมีการให้รางวัลแก่ผู้ที่สามารถกระทำการที่นำไปสู่ความรุนแรงต่ออีกฝ่ายได้
"ใครก็ตามที่ติดตามประวัติของนายกฯคนนี้จะไม่รู้สึกแปลกใจใดๆ เลย ใครที่สงสัยในวันที่นายกฯเข้าสู่ตำแหน่งและมีการรื้อฟื้นเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ขึ้นมา โดยมีการตั้งข้อสงสัยและห่วงใยไปถึงสถานการณ์ปัจจุบันว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งวันนี้ก็ประกาศชัดเจนแล้วว่าถ้ามีนายกฯ ที่มีประวัติและท่าทีเช่นนี้ บ้านเมืองจะเข้าสู่วิกฤติแน่นอน ในอารยประเทศ ถ้ามีการบริหารประเทศผิดพลาดและจงใจให้เกิดเหตุร้ายแรงเช่นนี้ จะต้องมีการแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองและทางกฎหมายด้วย ปัญหาของบ้านเมืองวันนี้ ผมไม่รู้จะเรียกร้องอะไรจากนายกฯได้อีก เพราะท่านไม่ใช้เหตุผล ไม่ใช้สติ เรียกร้องอะไรไปก็ไม่เกิดผล แต่ขอย้ำว่าสังคมที่มีวัฒนธรรมทางการเมืองที่เจริญแล้ว ความรับผิดชอบอยู่ที่นายกฯเต็มๆ" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
4.การที่นายกฯมอบหมายอำนาจให้พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) รับผิดชอบนั้น ตนเห็นว่า ผบ.ทบ.กำลังถูกวางตัวให้เป็นเหยื่อรายต่อไปของนายกฯ เพราะถ้า ผบ.ทบ.ดำเนินการแล้วเกิดความรุนแรงขึ้น ตนมั่นใจว่านายกฯจะโยนความผิดให้ผบ.ทบ. โดยอ้างว่ามอบอำนาจทางกฎหมายให้แล้ว ในทางกลับกัน ถ้าผบ.ทบ.ไม่ดำเนินการหรือไม่สนใจ ปล่อยให้เหตุการณ์เกิดความร้ายแรงต่อไป นายกฯก็จะดำเนินการกับผบ.ทบ.ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ จึงขอเรียกร้องให้ผบ.ทบ.ยืนอยู่ข้างประเทศชาติและประชาชน การคลี่คลายสถานการณ์ฉุกเฉินในขณะนี้ต้องคำนึงถึงความละเอียดอ่อนในสถานการณ์ความขัดแย้ง เพราะไม่ใช่เป็นการประกาศภาวะฉุกเฉินจากภัยพิบัติ ภัยธรรมชาติ หรือจากการกระทำของกลุ่มใดที่ไม่สามารถควบคุมการกระทำของตัวเองได้ แต่เป็นความขัดแย้งทางการเมืองที่โยงใยถึงผู้มีอำนาจเข้ามายุยงส่งเสริม
นายอภิสิทธิ์กล่าวอีกว่า ดังนั้น ผบ.ทบ.ต้องแสดงให้คนไทยเห็นว่าจะใช้อำนาจอย่างมีสติ และห่วงใยชีวิตของทุกคน รวมถึงจะไม่ใช้ความรุนแรง และใช้อำนาจที่มีเปิดการเจรจาเพื่อหาทางออกและเอาความเป็นธรรมกลับคืนสู่สังคม เช่น การมอบอำนาจให้จัดการกับสื่อมวลชนที่ยั่วยุ ขอให้เริ่มต้นจากสื่อของรัฐก่อน ถ้าต้องการให้พรรคประชาธิปัตย์ร่วมคลี่คลายปัญหาในเรื่องใด พรรคพร้อมให้ความร่วมมือ อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้น เรื่องสำคัญที่สุด คือ ต้องไม่ให้สถานการณ์บานปลาย และต้องใช้การเจรจาเป็นทางออกที่ดีที่สุด
คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) นำโดยนายสุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดี รองอธิการบดี 10 คน คณบดี 20 คน ผู้อำนวยการสำนักและผู้อำนวยการสถาบัน 12 คน รวมจำนวน 42 คน ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์เรียกร้องให้ทหารและตำรวจงดเว้นการใช้กำลังและใช้ความรุนแรงใดๆ ต่อผู้ชุมนุมทุกฝ่าย ขอให้ทุกฝ่ายยุติการยั่วยุให้เกิดความรุนแรง ขอให้นายกรัฐมนตรีเสียสละให้มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่ เพื่อให้เวลาและให้โอกาสแก่สังคมไทยในการเยียวยาความเสียหาย

องค์กรเอกชน-นักวิชาการทั่วประเทศแถลงการณ์ต้านพ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ขณะเดียวกัน 31 คณาจารย์ มธ. จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ศิลปากร นเรศวร สุโขทัยธรรมาธิราช, คณาจารย์ 30 คนของคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ, คณาจารย์มหาวิทยาลัยรังสิต, เครือข่ายทันตแพทย์เพื่อประชาธิปไตย นำโดยทันตแพทย์ไพศาล กังวลกิจ, มูลนิธิ 14 ตุลาฯ นำโดย นพ.วิชัย โชควิวัฒน, ชมรมแพทย์ชนบท นำโดย นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ, ภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน, คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรเครือข่าย, เครือข่ายประชาสังคมเพื่อความสมานฉันท์ภาคเหนือ 72 องค์กร นำโดยนายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ฯลฯ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรียกเลิกประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และขอให้เสียสละด้วยการลาออกหรือยุบสภาอย่างใดอย่างหนึ่ง
นอกจากนี้ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย, ชมรม ส.ส.ร. 50, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน, สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย โดยนางชมัยพร แสงกระจ่าง นายกสมาคม, คณาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ นำโดยนายสุริชัย หวันแก้ว, เครือข่ายสังคมไทยพร้อมใจปฏิเสธความรุนแรง นำโดยนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล, สภาทนายความไทย ออกแถลงการณ์ขอให้ทุกฝ่ายยึดมั่นในแนวทางสันติวิธี ละเว้นการใช้วิธีการใดๆ ที่เป็นเงื่อนไขนำไปสู่ความรุนแรง
ส่วนเครือข่ายคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชน นำโดยนางทิชา ณ นคร ออกจดหมายเปิดผนึกถึงคุณหญิงสุรัตน์ สุนทรเวช และครอบครัวแนะนำให้นายสมัครลาออกหรือยุบสภา
นอกจากนี้ รศ.ดร.บุญสม ศิริบำรุงสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับตัวแทนนักศึกษาและคณาจารย์ แถลงให้รัฐบาลยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินโดยเร็ว และขอให้ผู้นำรัฐบาลพิจารณาลาออก หรือยุบสภา
ที่มหาวิทยาลัยพายัพ จ.เชียงใหม่ เครือข่ายประชาสังคมเพื่อความสมานฉันท์ภาคเหนือ จำนวน 72 องค์กร ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้นายสมัครลาออกจากนายกฯ และยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
อีกด้านหนึ่ง รศ.ดร.วรพล พรหมิกบุตร ตัวแทนนักวิชาการเพื่อประชาธิปไตยและสันติวิธี ออกแถลงการณ์ชื่นชมรัฐบาลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ร่วมกันคลี่คลายสถานการณ์ด้วยความอดทนในการใช้แนวทางสันติวิธีต่อผู้ชุมนุม ส่วนองค์กรชาวพุทธแห่งประเทศไทยออกแถลงการณ์สนับสนุนให้กำลังใจรัฐบาล

ที่มา:http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1220365184&grpid=00&catid=00

3 ความคิดเห็น:

Mrmondaynight กล่าวว่า...

น่าจะรู้ตัวได้แล้วนะว่าควรทำไง ถึงขั้นนี้แล้วยังจะยื้อเวลาออกไปถึงไหน จะรอให้ประเทศชาติล่มจมเลยรึไง
เขาออกมาไล่กันทั้งบ้านทั้งเมืองแล้วยังจะอยู่อีกเหรอ
ทำไมประเทศอื่นเขาออกกันง่ายจัง แต่ทำไมประเทศเรามันเป็นไรไปเนี่ย ทำไมถึงกล้าอยู่กันจัง ไม่รู้ว่า...ทำด้วยไรกันนะครับ

นายปารเมศ เนื่องชมภู รหัสนักศึกษา 5131601399
section 02 school of law

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ป่วยการเมือง...



เมื่อไหร่จะจบๆไปซะที
ยื้อไปแล้วได้อะไรดีขึ้นมา..ก็ไม่เลย
ก็ไม่เข้าใจว่าจะดื้อด้านทำไม

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

จะให้เปลี่ยนนายกรัฐมนตรีอีกเท่าไร
พวกคุณถึงจะพอใจ
ถึงจะเลิกต่อต้านกัน
ประเทศเราปกครองระบอบประชาธิปไตยก็จริง
แต่ก็ไม่น่าจะเรียกร้องหรือสร้างสถานะการณ์แบบนี้เลย

นางสาววาสินี สวัสดิพงษ์
ID:5131601486