วันพฤหัสบดีที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2551

'แป้กซ้ำ!' สองนายกฯ'พ.ร.ก.ฉุกเฉิน'ใช้ต่างเหตุ...ไม่ต่างผล


ตามมาตรา 4 แห่ง “พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548” พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ที่ผู้คนทั่วไปเรียกง่าย ๆ สั้น ๆ ว่า “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” นั้น ระบุไว้ว่า..... “สถานการณ์ฉุกเฉิน” หมายความว่า สถานการณ์อันกระทบหรืออาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรืออาจทำให้ประเทศหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของประเทศตกอยู่ในภาวะคับขัน หรือมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา การรบหรือการสงคราม ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เอกราชและบูรณภาพแห่งอาณาเขต ผลประโยชน์ของชาติ การปฏิบัติตามกฎหมาย ความปลอดภัยของประชาชน การดำรงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ความสงบเรียบร้อยหรือประโยชน์ส่วนรวม หรือการป้องปัดหรือแก้ไขเยียวยาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะอันมีมาอย่างฉุกเฉินและร้ายแรง เมื่อ 2 ก.ย. 2551 “นายกฯสมัคร” ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คล้ายกับที่ “นายกฯทักษิณ” เคยประกาศเมื่อ 19 ก.ย. 2549 ย้อนเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 ในวันที่คณะทหารซึ่งนำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.ขณะนั้น ทำรัฐประหาร นายกรัฐมนตรีขณะนั้น คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ได้ประกาศข้ามทวีปมาได้ “ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่กรุงเทพฯ” ผ่านทางทีวีช่อง 9 ด้วยเสียงของตนเอง เนื้อหาตามประกาศคือ... “...โดยที่ปรากฏว่า มีกลุ่มบุคคลจะก่อการปฏิวัติรัฐประหาร มีการสั่งการเคลื่อนย้ายกำลังเพื่อโค่นล้มยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ซึ่งจะมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความมั่นคง ความปลอดภัยในชีวิต ของรัฐ และของบุคคล รวมทั้งกระทบร้ายแรงต่อการใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และจำเป็นต้องเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ยุติได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงอาศัยอำนาจตามการบริหารราชการแผ่นดิน ในมาตรา 5 มาตรา 6 และมาตรา 11 วรรค 1 แห่ง พ.ร.ก.ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 อันเป็นกฎหมายที่มีบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งในมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 31 มาตรา 35 มาตรา 36 มาตรา 37 มาตรา 44 มาตรา 48 มาตรา 50 และมาตรา 51 ของรัฐธรรมนูญบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยกฎหมาย โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จึงได้ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป...” ครั้งนั้น...มีการออกคำสั่งตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินให้ พล.อ.สนธิเข้าปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี และให้รายงานตัวต่อ พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รักษาการนายกรัฐมนตรีขณะนั้น และให้ พล.อ.เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ ผบ.สส.ขณะนั้น เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ “ผล” คือ...ประกาศ “แป้ก !!” ไม่มีการปฏิบัติตาม รัฐบาลทักษิณล้มไป...หลังสิ้นเสียงประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้วถึงใครไม่อยากเชื่อก็ต้องเชื่อ....อีก 17 วันครบ 2 ปี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฉบับเดิมก็ถูกประกาศใช้อีก ในรัฐบาลสมัคร คือเมื่อ 2 ก.ย. 2551 ซึ่งครั้งนี้ต่างกันตรง “เหตุ” มิใช่ กลุ่มทหาร แต่เป็น มวลชน กล่าวคือ..... “...โดยที่ปรากฏว่า ได้มีกลุ่มบุคคลดำเนินกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย และนำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศ ทั้งจะไม่ส่งผลดีต่อการบริหารราชการแผ่นดิน และความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ อันเป็นการกระทำที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน และเป็น ภัยต่อความมั่นคงของรัฐ รวมทั้งส่งผลกระทบต่อกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย และกระทบต่อการใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนผู้บริสุทธิ์ จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ยุติโดยเร็ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่ง พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 36 มาตรา 38 มาตรา 41 มาตรา 43 มาตรา 45 และมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้ โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย นายกรัฐมนตรีจึงให้ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป...” พลันที่มีการประกาศ...บางฝ่ายก็หวังว่าม็อบจะเกลี้ยงทันใจ แต่เอาเข้าจริงก็ไม่...ในทำเนียบรัฐบาลก็ยังเย้ว ๆ กันต่อ !! ทั้งนี้ มาถึงวันนี้สถานการณ์เป็นเช่นไรแล้ว...ก็ดังที่ทราบ ๆ อย่างไรก็ตาม กับวันแรก ๆ ของการ “ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในกรุงเทพฯ” ในมุมของเสถียรภาพรัฐบาลสมัคร-นายกฯสมัคร ก็ต้องถือว่า “แป้ก !!” คล้ายกับที่รัฐบาลทักษิณ-นายกฯทักษิณเคยประสบ ซึ่งมาถึงวันนี้ก็อาจได้รู้-หรือเกือบรู้แล้ว..... 2 นายกฯ “ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน...แป้ก” เหมือนกัน แล้วเหมือนต่อเนื่อง “เหมือนรัฐบาลทักษิณ” หรือไม่ ??.


ที่มา:http://www.dailynews.co.th/web/html

3 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ในเมื่อครั้งที่ผ่านมารัฐบาลก็ทำไม่สเร็จแล้วรัฐบาลชุดนี้ยังอยากให้ประวัติศาสตรืซ้ำรอยหรือคะ น่าจะใช้วิธีการที่คิดเองบ้าง เพราะขนาดนายกฯคนเก่าประชาชนยอมรับนับถือมากยังใช้ไม่ได้ผล แล้วนายกฯคนนี้คิดว่าจะได้ผลหรือ

ชาลินี เกิดรอด
ID 5131601301

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ถึงแม้จะประกาศมาแล้วแป้ก
แต่ก็ยังดีกว่าปล่อยให้เกิดการปฎิวัติขึ้นอีกครั้งนะ
ไม่อยากให้เกิดการปฎิวัติขึ้นเลย
เหมือนเอาใครไม่รุที่ทำงานไม่เป็นมาบริหารประเทศ
ประกาศออกมาถึงจะแป้กก็ยังดีซะกว่า

นางสาววาสินี สวัสดิพงษ์
ID:5131601486
SEC2

* Discuss Of Law * กล่าวว่า...

ถึงมันจะแป้ก
แต่ถ้าทำให้บ้านเมืองดีขึ้นก็โอเคนะ
ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย
เมื่อไหร่ประเทศของเราจะสงบกันสักที
ช่วยกันบริหารประเทศให้ดีขึ้นเถอะนะ
ถือว่าทำเพื่อความสุขของประชาชนในประเทศ





นางสาวภัทราสิยากร ณ นคร
ID:5131601005 SEC:1