วันศุกร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2551

พาณิชย์เล่นเกมยื้อผู้ผลิตขึ้นราคา ธุรกิจดิ้นหั่นกำลังผลิต-ลดไซซ์-ส่งไฟติ้งแบรนด์สู้

ผู้ผลิตสินค้ากุมขมับ พาณิชย์ยึดราคาน้ำมันเป็นที่ตั้ง ยืนกรานไม่ยอมให้ปรับราคา ชี้ "น้ำมันปาล์ม" ยาก อุตสาหกรรมนมกระอัก นมข้นหวานชิงลดกำลังผลิตหวังทุเลาการขาดทุน เผย "ตราหมี" ในต่าง จังหวัดเริ่มขาดตลาด แต่ส่งสูตรใหม่ผสมครีมเทียมรุกแทน พร้อมเบนเข็มโฟกัสหมีโกลด์ "น้ำดำ" ทำใจช่วยตัวเองก่อน เน้นลดต้นทุน ค่ายชูกำลัง "เอ็ม-150/กระทิงแดง" สุดอั้น ขึ้นราคาขายส่งแล้วถึงวันนี้ดูเหมือนว่าผลจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่องในช่วงประมาณ 1 เดือนที่ผ่านมา จาก 147 ดอลลาร์/บาร์เรล เหลือ 114 ดอลลาร์/ บาร์เรล และส่งผลให้ราคาน้ำมันในประเทศลดลงตามไปด้วย จะเป็นปัจจัยหลักของกระทรวงพาณิชย์ ที่ใช้เป็นอาวุธในการเจรจากับผู้ผลิตสินค้าต่างๆ เพื่อจะให้ "ตรึง" ราคาสินค้าไว้อย่างน้อยๆ ก็ถึงสิ้นปีพาณิชย์ปักธง "ตรึง" ราคาผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) เมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา นายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.พาณิชย์ ย้ำว่ายังไม่ได้พิจารณาให้มีการปรับราคาขายปลีกนมและน้ำมันพืช ตามที่ได้ยื่นขอมา และให้คณะอนุกรรมการกลับไปพิจารณาราคาต้นทุนอีกครั้ง หนึ่งในทีมที่ปรึกษารัฐมนตรี กระทรวงพาณิชย์ กล่าวในเรื่องนี้กับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า แนวทางของกระทรวงพาณิชย์ในการเจรจากับผู้ผลิตในตอนนี้หลักๆ จะไม่ยอมให้มีการปรับราคาขึ้นอย่างเด็ดขาด ยกเว้นกรณีที่มีเหตุผลด้านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนจริงๆ โดยจะสังเกตได้จากกรณีของการขอปรับขึ้นราคาของนมและน้ำมันปาล์มที่แม้ว่าต้นทุนจะเพิ่มขึ้น แต่กระทรวงพาณิชย์ก็ยังไม่ยอมให้ปรับราคาแหล่งข่าวรายนี้ย้ำว่า กระทรวงไม่ต้องการซ้ำเติมสถานการณ์ที่เป็นอยู่ให้หนักขึ้นไปอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของค่าครองชีพประชาชนที่เพิ่มสูงขึ้นมาก ประกอบกับมีความกังวลกับปัญหาเงินเฟ้อที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และเกรงว่าการขึ้นราคาสินค้าจะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น เมื่อราคาน้ำมันลดลงจึงอยากจะให้ผู้ประกอบการตรึงราคาไว้ก่อน"เราไม่ได้ปิดประตูการขอขึ้นราคา และจะพิจารณาตามเหตุผลของความจำเป็น แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า หากให้ปรับราคาแล้ว ลงได้หรือไม่ เมื่อต้นทุนต่างๆ ลดลง และหาก สินค้าประเภทใดมีการแข่งขันที่สูงและมีสินค้าที่ทดแทนกันได้ พาณิชย์คงไม่อนุมัติให้ปรับราคา"ผู้ประกอบการนมดิ้นปรับตัวขณะที่แหล่งข่าวจากวงการค้าปลีก รายใหญ่ กล่าวในเรื่องนี้ว่า จากนี้ไปเชื่อว่าการขึ้นราคาสินค้าของ ผู้ประกอบการคงจะเป็นเรื่องยาก จากการส่งสัญญาณของนายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ต้องการตรึงราคาสินค้าไว้จนถึงสิ้นปี ประกอบกับกำลังซื้อที่ยังไม่ได้กระเตื้องขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการทุกค่ายต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับโจทย์ที่เกิดขึ้น และแต่ละสินค้าก็จะมีรูปแบบหรือวิธีการที่แตกต่างกันไปแหล่งข่าวจากวงการนมข้นหวาน กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า หลังจากที่ผู้ประกอบการได้ยื่นขอปรับราคาไปแล้วและมีการเปลี่ยนแปลงตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ตอนนี้เรื่องก็ยังเงียบอยู่ ขณะนี้ทุกค่ายต่างก็ต้องพยายามช่วยเหลือตัวเองเพื่อไม่ให้ขาดทุนมากไปอีก สิ่งหนึ่งที่ทำก็คือ การลดกำลังการผลิตลงบางส่วน เนื่องจากหากยิ่งผลิตมากก็จะขาดทุนมาก อย่างกรณีของนมตราหมี ตอนนี้ต่างจังหวัดในหลายๆ พื้นที่ไม่มีสินค้าวางขายแล้ว และที่ผ่านมาตราหมีก็ปรับตัวด้วยการส่งแบรนด์ใหม่ซึ่งใช้ครีมเทียมเป็นส่วนผสมหลัก ชื่อ ทีพอท (Tea Pot) ที่มีราคาถูกกว่า คือ กระป๋องละ 19 บาท เข้ามาทำตลาดแทน หรือนมโฟร์โมสต์ก็ลดการทำตลาดลง"ตอนนี้แม้ว่าราคาน้ำมันจะเริ่มปรับลดลงมาบ้าง แต่ต้นทุนอื่นๆ ทั้งกระป๋อง น้ำตาล นมผง รวมทั้งน้ำมันปาล์มที่ราคายังอยู่ในเกณฑ์สูง ที่สำคัญราคาที่ยื่นขอปรับไปก็เป็นราคาเมื่อช่วงต้นปี และหากอนุมัติให้ปรับขึ้นในตอนนี้ผู้ประกอบการก็ยังขาดทุนอยู่"ผู้สื่อข่าวตั้งข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมาแม้ว่าในส่วนของนมตราหมี (เอฟแอนด์เอ็น แดรี่ฯ) จะมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมากและต้องลดกำลังการผลิตลงเพื่อลดการขาดทุน นมตราหมีก็ได้มีการปรับตัวเพื่อรับมือกับน้ำนมดิบและน้ำตาลที่ขึ้นราคา ด้วยการหันมาให้ความสำคัญกับสินค้าที่เป็นเทรนด์ของ ผู้บริโภคยุคใหม่ กับ "ตราหมีโกลด์" นมสดสเตอริไลซ์ วางตำแหน่งเป็นนมพร้อมดื่ม ไขมันต่ำ แคลเซียมสูง ระดับพรีเมี่ยม จับกลุ่มผู้หญิงวัยทำงานที่รักสุขภาพ พร้อมทุ่มงบฯทำแคมเปญโฆษณามาเป็นระยะๆหนีต้นทุนพุ่ง-หารายได้อื่นทดแทนแหล่งข่าวในวงการนมพร้อมดื่มชี้ว่า ตราหมีโกลด์ประสบความสำเร็จอย่างมาก จากยอดขายที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าก่อนทำแคมเปญ เพราะโฆษณาที่ออกมาทำให้ผู้บริโภคเข้าใจคุณประโยชน์ของสินค้า แม้ราคาของหมีโกลด์ค่อนข้างสูง แต่ผู้บริโภคพร้อมจะจ่ายเพราะขายเรื่องสุขภาพ สำหรับในส่วนของนมพร้อมดื่มพาสเจอไรซ์ ก่อนหน้านี้นายไพศาล จงบัญญัติเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี-เมจิ จำกัด ในฐานะตัวแทนสมาคมอุตสาหกรรมนมไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาในช่วงระหว่างที่รอกรมการค้าภายในพิจารณาการขอปรับขึ้นราคาผู้ประกอบการได้หันมาใช้วิธีการชะลอการผลิต ขณะที่นางโกสุม สินเพิ่มสุขสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ล็อกซเล่ย์ เทรดดิ้ง จำกัด ผู้จัดจำหน่ายนมหนองโพ ย้ำว่า การขึ้นราคาดูจะไม่ใช่เรื่องง่ายในสถานการณ์ขณะนี้ ขณะที่ต้นทุนของนมพร้อมดื่มปัจจุบันถือว่าอยู่ในภาวะที่ลำบากมาก โดยเฉพาะจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่อนุมัติให้ปรับขึ้นราคาน้ำนมดิบจากกิโลกรัมละ 14.50 บาท เป็น 18 บาท และสิ่งที่ทำได้คือการปรับตัว ประหยัดค่าใช้จ่าย และการหารายได้จากส่วนอื่นๆ มาทดแทน โดยช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา บริษัทได้ตั้งทีมเฉพาะกิจโรดโชว์ไปขายสินค้าตามสถานที่ต่างๆ เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคโดยตรงส่วนนายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย กล่าวในเรื่องนี้ว่า ขณะนี้เจ้าของสินค้าต่างๆ ยังไม่มีการแจ้งขึ้นราคามายังยี่ปั๊ว และจากราคาน้ำมันที่เริ่มลดลงส่งผลให้มู้ดการจับจ่ายดีขึ้น และวัตถุดิบบางรายการก็น่าจะดีขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้วัตถุดิบที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด คือ เม็ดพลาสติก วัตถุดิบสำคัญของแพ็กเกจจิ้งที่ใช้ในสินค้าอุปโภคบริโภคที่ยังมีราคาสูงคอนซูเมอร์หันพึ่งกลยุทธ์ลดไซซ์ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการปรับตัวของผู้ประกอบการสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการรายใหญ่ทั้ง พีแอนด์จี, ยูนิลีเวอร์, คาโอ, สหพัฒน์ และ คอลเกตฯ ต่างยืนยันว่าจะตรึงราคาสินค้าไปจนถึงสิ้นปีนี้นั้น เป็นที่น่าสังเกตว่าส่วนใหญ่ได้หันมาให้ความสำคัญกับการเปิดตัวสินค้าไซซ์เล็ก ราคาประหยัดออกมาวางจำหน่ายเพิ่มขึ้นเป็นระยะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพีแอนด์จีที่ใช้เป็นกลยุทธ์หลักและประสบความสำเร็จอย่างมากกับแพนทีน โปร-วี ที่ออกขนาดคุ้มค่า 20 บาท โอเลย์ ที่เปิดตัวขนาด 20 กรัม ราคา 229 บาท จากขนาดปกติ 50 กรัม และแปรงสีฟันออรัล-บี ในราคาด้ามละ 10 บาทขณะที่แหล่งข่าวจากบริษัทเครื่องดื่ม น้ำอัดลม กล่าวว่า การที่ยังพาณิชย์ยังไม่อนุมัติให้ปรับราคา ส่วนหนึ่งอาจเนื่องจากมองว่าเป็นสินค้าที่ไม่จำเป็น ดังนั้น สิ่งที่ ผู้ประกอบการจะทำได้ในเวลานี้ก็คือ การช่วยเหลือตัวเองด้วยการปรับลดต้นุทนต่างๆ เป็นหลัก และที่เป็นปัญหาของผู้ประกอบการในเวลานี้ก็คือ ต้นทุนจากน้ำตาล ฝาจีบ รวมถึงขวดพีอีที ซึ่งเป็นผลจากราคาเม็ดพลาสติกที่มีราคาสูง และหากทนไม่ได้ก็จะต้องยื่นขอปรับราคาไปอีกครั้งหนึ่งด้านแหล่งข่าวจากบริษัท โอสถสภา จำกัด เปิดเผยว่า ขณะนี้ แม้ว่าราคาน้ำมันจะปรับตัวลดลงมาบ้าง แต่ต้นทุนจากวัตถุดิบอื่นๆ อาทิ ขวดแก้ว ฝา ฯลฯ เมื่อเร็วๆ นี้บริษัทได้ปรับราคาขายส่งขึ้นอีก 10 บาท/ ลัง (50 ขวด) สำหรับกรณีของเอ็ม-150 ส่วนแบรนด์อื่นๆ ก็มีการปรับขึ้นด้วยเช่นกัน โดยราคาจะอยู่ในระดับ 5-10 บาท/ลัง และล่าสุดเท่าทราบ กระทิงแดงก็มีแผนจะปรับราคาด้วยเช่นกัน

ที่มา:http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02mar01280851&day=2008-08-28&sectionid=0207

ไม่มีความคิดเห็น: